ข้อบังคับสหกรณ์การเกษตรบ้านไผ่ จำกัด พ.ศ.2560
ตามมติของที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์การเกษตรบ้านไผ่ จำกัด เมื่อวันที่ 18 เดือนสิงหาคม พ.ศ.2560 ให้แก้ไขข้อบังคับโดยยกเลิกข้อบังคับสหกรณ์เสียทั้งหมด และให้ใช้ข้อบังคับฉบับนี้แทนซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์ได้รับจดทะเบียนแล้ว มีความดังนี้
ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับสหกรณ์การเกษตรบ้านไผ่ จำกัด พ.ศ.2560”
ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่นายทะเบียนสหกรณ์รับจดทะเบียน ให้ยกเลิก ข้อบังคับสหกรณ์ที่มีอยู่ก่อนข้อบังคับสหกรณ์ฉบับนี้ใช้บังคับ นับแต่วันที่ข้อบังคับสหกรณ์ฉบับนี้มีผลบังคับใช้
ข้อบังคับ
สหกรณ์การเกษตรบ้านไผ่ จำกัดพ.ศ.2560
หมวด 1
ชื่อ ประเภทและที่ตั้งสำนักงาน
ข้อ 1. ชื่อ ประเภทและที่ตั้งสำนักงาน
ชื่อ สหกรณ์การเกษตรบ้านไผ่ จำกัด
ประเภท สหกรณ์การเกษตร
ที่ตั้งสำนักงาน เลขที่ 84/3 ถนนมิตรภาพ หมู่ที่ 3
ตำบลบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่
จังหวัดขอนแก่น รหัสไปรษณีย์ 40110
ท้องที่ดำเนินงาน อำเภอบ้านไผ่ อำเภอบ้านแฮด อำเภอโนนศิลา และอำเภอเปือยน้อย
สหกรณ์อาจย้ายที่ตั้งสำนักงานได้ตามที่คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาเห็นสมควร โดยแจ้งให้นายทะเบียนสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทราบ และให้ปิดประกาศไว้ที่สำนักงานของสหกรณ์เดิม สำนักงานส่วนราชการสหกรณ์ และที่ว่าการอำเภอแห่งท้องที่ที่สหกรณ์ตั้งอยู่เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และให้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับในการประชุมใหญ่คราวต่อไปด้วย
ตราของสหกรณ์ ตราของสหกรณ์มีรูปลักษณะ ดังนี้
หมวด 2
วัตถุประสงค์และอำนาจกระทำการ
ข้อ 2. วัตถุประสงค์ สหกรณ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักสหกรณ์ รวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1) จัดหาวัสดุการเกษตรและเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นมาจำหน่ายแก่สมาชิก
(2) รวบรวมผลิตผลการเกษตร ผลิตภัณฑ์และบริการของสมาชิกมาจัดการขายหรือแปรรูปออกขายโดยซื้อหรือรวบรวมผลิตผลจากสมาชิกก่อนผู้อื่น
(3) จัดให้มีเงินกู้หรือสินเชื่อแก่สมาชิก เพื่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีพ
(4) ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก
(5) ส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกและชุมชน
- ร่วมมือกับสหกรณ์อื่น สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์ องค์กร ชุมชนภาคเอกชน และหน่วยงานของรัฐเพื่อส่งเสริมและปรับปรุงกิจการของสหกรณ์
(7) ส่งเสริมและเผยแพร่อาชีพการเกษตร หัตถกรรม อุตสาหกรรมในครัวเรือนหรือการประกอบอาชีพอย่างอื่นในหมู่สมาชิกและครอบครัวสมาชิก รวมทั้งการส่งเสริมความรู้ในการผลิตทางอุตสาหกรรม เพื่อให้สมาชิกมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง
(8) รับจ้างตรวจสอบกิจการของชุมนุมสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น
ข้อ 3. อำนาจกระทำการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ ให้สหกรณ์มีอำนาจกระทำการดังต่อไปนี้
(1) ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ หรือปิดกั้นทำนบเหมืองฝาย จัดระบบการส่งน้ำ ระบายน้ำและอำนวยการใช้น้ำเพื่อประโยชน์แก่การเกษตร
(2) จัดให้มีฉางหรือโรงเรือนการเกษตรเพื่อเก็บรักษาผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์
(3) จัดให้มียานพาหนะขนส่ง เครื่องมือ เครื่องจักรกล หรือปศุสัตว์ เกี่ยวกับ การผลิตทางการเกษตรสำหรับให้บริการแก่สมาชิก
(4) จัดให้มีโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปผลิตผลหรือเพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด
(5) จัดหาทุนเพื่อดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
(6) รับฝากเงินจากสมาชิกหรือสหกรณ์อื่นหรือสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์
(7) ให้สหกรณ์อื่นกู้ยืมเงิน
(8) ซื้อหุ้นของธนาคารซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์
- ซื้อหุ้นของชุมนุมสหกรณ์หรือสหกรณ์อื่น
(10) ซื้อหุ้นของสถาบันที่ประกอบธุรกิจอันทำให้เกิดความสะดวกหรือส่งเสริมความเจริญ แก่กิจการของสหกรณ์
(11) ออกตั๋วสัญญาใช้เงินและตราสารการเงิน
(12) ฝากหรือลงทุนอย่างอื่นตามกฎหมายและตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด
(13) ให้สวัสดิการและการสงเคราะห์ตามสมควรแก่สมาชิกและครอบครัว
(14) ส่งเสริมกิจกรรมกลุ่มของสมาชิก กลุ่มสตรีสหกรณ์ กลุ่มเยาวชนสหกรณ์ กลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มรวมกันผลิต กลุ่มรวมกันซื้อ กลุ่มรวมกันขาย และกลุ่มออมทรัพย์ ฯลฯ
(15) ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่สมาชิก
(16) ขอหรือรับความช่วยเหลือทางวิชาการจากทางราชการ หน่วยงานของต่างประเทศหรือบุคคลอื่นใด
(17) การกระทำต่าง ๆ ตามที่อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ เพื่อให้เป็นไปตาม วัตถุประสงค์ที่กล่าวข้างต้น รวมถึง ซื้อ ถือกรรมสิทธิ์หรือทรัพย์สิทธิครอบครอง กู้ ยืม เช่าหรือให้เช่า เช่าซื้อหรือให้เช่าซื้อ โอนหรือรับโอน สิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อ ขายหรือจำหน่าย จำนองหรือรับจำนอง จำนำหรือรับจำนำ ด้วยวิธีอื่นใด ซึ่งทรัพย์สินแก่สมาชิกหรือของสมาชิก
หมวด 3
ทุน
ข้อ 4. ที่มาของทุน สหกรณ์อาจหาทุนเพื่อดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(1) ออกหุ้น
(2) รับฝากเงิน
(3) กู้ยืมเงินและรับเงินจากการออกตั๋วสัญญาใช้เงินและตราสารการเงินอย่างอื่น
(4) สะสมทุนสำรองและทุนอื่น ๆ
- รับเงินอุดหนุนหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้
หุ้น
ข้อ 5. การออกหุ้น สหกรณ์ออกหุ้นได้โดยไม่จำกัดจำนวน มีมูลค่าหุ้นละสิบบาท
ข้อ 6. การถือหุ้น สมาชิกต้องถือหุ้นในสหกรณ์ดังต่อไปนี้
(1) ถือหุ้นเมื่อแรกเข้าเป็นสมาชิกอย่างน้อยคนละ 50 หุ้น
(2) ถือหุ้นตามส่วนแห่งเงินกู้ ในอัตราห้าหุ้นต่อจำนวนเงินกู้ทุก ๆ หนึ่งพันบาท เศษของ
หนึ่งพันบาท ให้ถือเป็นห้าหุ้น เว้นแต่การกู้คราวนั้นสมาชิกขอรับเป็นสิ่งของก็ให้งดเว้นการถือหุ้นเพิ่มได้
(3) นอกจากถือหุ้นตาม (1) และ (2) แล้ว สมาชิกย่อมจะขอถือหุ้นเพิ่มขึ้นอีกเมื่อใดก็ย่อมทำได้ โดยแสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการดำเนินการ แต่จำนวนหุ้นทั้งหมดต้องไม่เกินหนึ่งในห้าของหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมด
สมาชิกจะโอนหุ้นหรือถอนหุ้นในระหว่างที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ไม่ได้
เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง สหกรณ์มีสิทธินำเงินตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่มาหักกลบ ลบหนี้ที่สมาชิกผูกพันต้องชำระหนี้แก่สหกรณ์ได้และให้สหกรณ์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิพิเศษเหนือเงินค่าหุ้นนั้น
ข้อ 7. การชำระค่าหุ้น สมาชิกต้องชำระค่าหุ้นเป็นเงินสดโดยถือปฏิบัติดังนี้
(1) การชำระค่าหุ้นตาม ข้อ 6 (1) และข้อ 6 (3) นั้น จะต้องชำระเต็มมูลค่าหุ้นในคราวเดียวภายในเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
(2) การชำระค่าหุ้นตามข้อ 6 (2) จะต้องชำระค่าหุ้นทุกคราวที่ได้รับเงินกู้จากสหกรณ์
ข้อ 8. การโอนหุ้นของสมาชิก การโอนหุ้นซึ่งสมาชิกถืออยู่ในสหกรณ์จะทำได้โดยเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) สมาชิกผู้โอนได้ออกจากสหกรณ์ และจะโอนหุ้นซึ่งชำระเต็มมูลค่าแล้วเท่านั้น
(2) สมาชิกผู้โอนไม่มีหนี้สินของตนซึ่งต้องรับผิดชอบต่อสหกรณ์โดยตรง
(3) ผู้รับโอนต้องเป็นสมาชิกในสหกรณ์นี้ หรือผู้สมัครซึ่งคณะกรรมการดำเนินการตกลงให้รับเข้าเป็นสมาชิกแล้ว
การโอนหุ้นต้องทำเป็นหนังสือตามแบบที่สหกรณ์กำหนดไว้ โดยลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนมีพยานอย่างน้อยสองคนรับรองลายมือชื่อนั้น ๆ
เมื่อสหกรณ์ได้สอบสวนพิจารณาแล้วปรากฏว่า การโอนหุ้นได้กระทำโดยถูกต้องและครบถ้วนตามเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น และได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและที่อยู่ของผู้รับโอนลงในทะเบียนหุ้นแล้วเสร็จ จึงเป็นอันรับรองการโอนหุ้นนั้นๆ
ข้อ 9. การแจ้งความจำนงเพื่อโอนหุ้น สมาชิกซึ่งประสงค์จะโอนหุ้นโดยถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 8 (1) และ (2) แต่ไม่อาจหาสมาชิกผู้รับโอนได้จะแจ้งความจำนงเพื่อโอนหุ้นไว้ต่อสหกรณ์เป็นหนังสือก็ได้ เมื่อสหกรณ์ได้รับแจ้งเช่นนั้นแล้วถ้ามีสมาชิกอื่นมาขอถือหุ้น สหกรณ์จะจัดให้ทำความตกลงกันโอนหุ้น ซึ่งรับแจ้งความจำนงไว้นั้นก่อนการออกหุ้นใหม่
ข้อ 10. การแจ้งยอดจำนวนหุ้น สหกรณ์จะแจ้งยอดจำนวนหุ้นที่สมาชิกชำระเต็มมูลค่าแล้วให้สมาชิกแต่ละคนทราบทุกสิ้นปีทางบัญชีสหกรณ์
หมวด 4
การดำเนินงาน
ข้อ 11. การดำเนินงาน การดำเนินงานของสหกรณ์ต้องทำธุรกิจบริการสมาชิกโดยการให้เงินกู้ รวมกันผลิต รวมกันซื้อ รวมกันขาย รวมกันแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันและเปิดโอกาสให้สมาชิกได้ช่วยเหลือตนเองตามกำลังความสามารถ
การรับฝากเงิน
ข้อ 12. การรับฝากเงิน สหกรณ์อาจรับฝากเงินประเภทออมทรัพย์ หรือประเภทประจำจากสมาชิกหรือสหกรณ์อื่นหรือสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ซึ่งมีสมาชิกของสมาคมนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์ ทั้งนี้ ตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์
ข้อกำหนดเกี่ยวกับการรับฝาก ดอกเบี้ย การถอนเงินฝากและอื่น ๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์
ให้สหกรณ์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
การให้เงินกู้
ข้อ 13. การให้เงินกู้ เงินกู้นั้นอาจให้ได้แก่
(1) สมาชิกของสหกรณ์
(2) สหกรณ์อื่น
การให้เงินกู้แก่สมาชิกนั้น ให้คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยให้เงินกู้ได้ตาม ข้อบังคับนี้และตามระเบียบของสหกรณ์
ข้อกำหนดต่าง ๆ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาวินิจฉัยให้เงินกู้ ประเภทและจำกัดแห่งเงินกู้ หลักประกันสำหรับเงินกู้ ลำดับแห่งการให้เงินกู้ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การส่งชำระหนี้เงินกู้ การควบคุมหลักประกัน การเรียกคืนเงินกู้และอื่น ๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์
การให้เงินกู้แก่สหกรณ์อื่นนั้น คณะกรรมการดำเนินการจะพิจารณาให้กู้ได้ต่อเมื่อสหกรณ์มีเงินทุนเหลือจากการให้เงินกู้แก่สมาชิกแล้ว ตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์
สมาชิกหรือสหกรณ์อื่นซึ่งประสงค์จะขอกู้เงินจากสหกรณ์นี้ ต้องเสนอคำขอกู้ตามแบบและระเบียบของสหกรณ์ที่กำหนดไว้
ข้อ 14. ความมุ่งหมายแห่งเงินกู้ เงินกู้ซึ่งให้แก่สมาชิกไม่ว่าประเภทใด ๆ จะให้ได้แต่เฉพาะเพื่อการอันจำเป็น หรือมีประโยชน์ตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควร
ให้คณะกรรมการดำเนินการสอดส่อง และกวดขันการใช้เงินกู้ของสมาชิกให้ตรงตามความมุ่งหมายที่ให้เงินกู้นั้น
การฝากหรือการลงทุนของสหกรณ์
ข้อ 15. การฝากหรือการลงทุนของสหกรณ์ เงินของสหกรณ์นั้นสหกรณ์อาจฝากหรือลงทุนได้ตามที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ และตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด ภายใต้กฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ โดยให้คำนึงถึงความมั่นคงและประโยชน์สูงสุดที่สหกรณ์หรือสมาชิกจะได้รับ
การกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกัน
ข้อ 16. วงเงินกู้ยืมหรือการค้ำประกัน ที่ประชุมใหญ่อาจกำหนดวงเงินกู้ยืมหรือการค้ำประกันสำหรับปีหนึ่ง ๆ ไว้ตามที่จำเป็นและสมควรแก่การดำเนินงาน วงเงินซึ่งกำหนดดังว่านี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์
ถ้าที่ประชุมใหญ่ยังมิได้กำหนดหรือนายทะเบียนสหกรณ์ยังมิได้ให้ความเห็นชอบวงเงินกู้ยืมหรือการค้ำประกันสำหรับปีใด ก็ให้ใช้วงเงินกู้ยืมสำหรับปีก่อนไปพลาง
ข้อ 17. การกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกัน สหกรณ์อาจกู้ยืมเงินหรือออกตั๋วสัญญาใช้เงินหรือตราสารการเงิน หรือโดยวิธีอื่นใดสำหรับใช้เป็นทุนดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ได้ตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นควร ทั้งนี้จะต้องอยู่ภายในวงเงินกู้ยืมหรือการค้ำประกันประจำปีตามข้อ 16
การเงินและการบัญชีของสหกรณ์
ข้อ 18. การลงลายมือชื่อแทนสหกรณ์ การลงลายมือชื่อเพื่อให้มีผลผูกพันสหกรณ์ในกิจการเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการ หรือเลขานุการ หรือเหรัญญิก และผู้จัดการ รวมสองคนเป็นผู้ลงชื่อแทนสหกรณ์ในเอกสารทั้งปวงได้
คณะกรรมการดำเนินการจะมอบหมายให้กรรมการดำเนินการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้จัดการ
ทำการแทนก็ได้ และให้เป็นไปตามที่มอบหมายนั้น
การลงลายมือชื่อแทนสหกรณ์ตามความในวรรคหนึ่งและวรรคสองต้องประทับตราของสหกรณ์ (ถ้ามี)เป็นสำคัญด้วย
ข้อ 19. การเงินของสหกรณ์ คณะกรรมการดำเนินการต้องดำเนินการในทางอันสมควร เพื่อให้การเงินของสหกรณ์เป็นไปโดยเรียบร้อยและเกิดประโยชน์แก่สหกรณ์ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1) การรับจ่ายและเก็บรักษาเงินของสหกรณ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของ สหกรณ์
(2) การรับจ่ายเงินของสหกรณ์ต้องกระทำที่สำนักงานของสหกรณ์เท่านั้น เว้นแต่มีกรณีอันจำเป็นที่ไม่อาจปฏิบัติได้ ให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณากำหนดวิธีปฏิบัติได้ตามสมควร
ข้อ 20. การบัญชีของสหกรณ์ ให้สหกรณ์จัดให้มีการทำบัญชีตามแบบและรายการที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด และเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ที่สำนักงานของสหกรณ์ภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
ให้บันทึกรายการในบัญชีเกี่ยวกับกระแสเงินสดของสหกรณ์ในวันที่เกิดเหตุนั้น สำหรับเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับกระแสเงินสด ให้บันทึกรายการในสมุดบัญชีภายในสามวันนับแต่วันที่มีเหตุอันจะต้องบันทึกรายการนั้นและการลงบัญชีต้องมีเอกสารประกอบการลงบัญชีที่สมบูรณ์โดยครบถ้วน
ให้สหกรณ์จัดทำงบดุลอย่างน้อยครั้งหนึ่งทุกรอบสิบสองเดือนอันจัดว่าเป็นรอบปีทางบัญชีของสหกรณ์ซึ่งต้องมีรายการแสดงสินทรัพย์ หนี้สิน และทุนของสหกรณ์ กับทั้งบัญชีกำไรขาดทุนตามแบบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์ให้สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี
ข้อ 21. การเสนองบดุลต่อที่ประชุมใหญ่ ให้คณะกรรมการดำเนินการเสนองบดุล ซึ่งผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบและรับรองแล้วเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี
ให้คณะกรรมการดำเนินการเสนอรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ด้วยในคราวที่เสนองบดุล และให้ส่งสำเนารายงานประจำปีกับงบดุลไปยังนายทะเบียนสหกรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการประชุมใหญ่
อนึ่ง ให้เก็บรักษารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์ งบดุล พร้อมทั้งข้อบังคับ ระเบียบ และกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ไว้ ณ สำนักงานของสหกรณ์เพื่อให้สมาชิกขอตรวจดูได้โดยไม่ต้องเสีย ค่าธรรมเนียม
ข้อ 22. ทะเบียนและเอกสารของสหกรณ์ ให้สหกรณ์มีทะเบียนสมาชิก ทะเบียนหุ้น สมุดรายงานการประชุม ตลอดจนทะเบียนอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรให้มีขึ้น
ให้สหกรณ์ส่งสำเนาทะเบียนสมาชิก และทะเบียนหุ้นแก่นายทะเบียนสหกรณ์ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่จดทะเบียน
ให้สหกรณ์รายงานการเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนสมาชิกหรือทะเบียนหุ้นต่อนายทะเบียนสหกรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์
สมาชิกอาจขอตรวจดูเอกสารดังกล่าวในวรรคก่อนได้ ณ สำนักงานของสหกรณ์ในระหว่างเวลาทำงานแต่จะดูบัญชีหรือทะเบียนเกี่ยวกับเงินค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินกู้ของสมาชิกรายอื่นไม่ได้ นอกจากจะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของสมาชิกนั้น และได้รับอนุญาตจากผู้จัดการก่อน
การตรวจสอบบัญชีและการกำกับดูแลสหกรณ์
ข้อ 23. การตรวจสอบบัญชี บัญชีของสหกรณ์นั้นต้องได้รับการตรวจสอบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไปและตามระเบียบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด โดยผู้สอบบัญชีซึ่ง นายทะเบียนสหกรณ์แต่งตั้ง
ข้อ 24. การกำกับดูแลสหกรณ์ นายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ ผู้ตรวจการสหกรณ์ ผู้สอบบัญชี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้
คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ คณะกรรมการอื่น ผู้ตรวจสอบกิจการ ผู้จัดการ เจ้าหน้าที่ หรือเชิญสมาชิกของสหกรณ์มาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของสหกรณ์ หรือให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงานหรือรายงานการประชุมได้ และมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบในสำนักงานของสหกรณ์ระหว่างเวลาทำงานของสหกรณ์ได้
ทั้งนี้ ให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องตามความในวรรคแรกอำนวยความสะดวกให้ความช่วยเหลือและให้คำชี้แจงแก่ผู้ปฏิบัติการตามสมควร
ข้อ 25. การส่งรายการหรือรายงาน ให้สหกรณ์ส่งรายการหรือรายงานเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ต่อหน่วยงานที่กำกับดูแล ตามแบบและระยะเวลาที่หน่วยงานนั้นกำหนด
กำไรสุทธิประจำปี
ข้อ 26. การจัดสรรกำไรสุทธิประจำปี เมื่อสิ้นปีทางบัญชีและได้ปิดบัญชีตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไปแล้ว ปรากฏว่าสหกรณ์มีกำไรสุทธิ ให้จัดสรรเป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของกำไรสุทธิ และเป็นค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยในอัตราร้อยละหนึ่งของกำไรสุทธิ แต่ไม่เกินที่กำหนดในกฎกระทรวง*
กำไรสุทธิประจำปีที่เหลือจากการจัดสรรตามความในวรรคก่อนนั้น ที่ประชุมใหญ่อาจจัดสรรได้ ดังต่อไปนี้
(1) เป็นเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้วให้แก่สมาชิก แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยคิดให้ตามส่วนแห่งระยะเวลา อนึ่ง ถ้าสหกรณ์ถอนทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผลตาม (4) ออกจ่ายเป็นเงินปันผลสำหรับปีใดด้วย จำนวนเงินปันผลทั้งสิ้นที่จ่ายสำหรับปีนั้นก็ต้องไม่เกินอัตราดังกล่าวมาแล้ว
(2) เป็นเงินเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกตามส่วนธุรกิจที่สมาชิกได้ทำไว้กับสหกรณ์ในระหว่างปีตามมติที่ประชุมใหญ่ เว้นแต่สมาชิกที่ผิดนัดการชำระหนี้สหกรณ์ มิให้ได้รับเงินเฉลี่ยคืนสำหรับปีนั้น
(3) เป็นเงินโบนัสแก่กรรมการและเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิ
(4) เป็นทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผล ไม่เกินร้อยละสองแห่งทุนเรือนหุ้นของสหกรณ์ตามที่มีอยู่ในวันสิ้นปีนั้น ทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผลนี้จะถอนได้โดยมติแห่งที่ประชุมใหญ่ เพื่อจ่ายเป็นเงินปันผล ตามหุ้นตาม (1)
(5) เป็นทุนเพื่อการศึกษาอบรมทางสหกรณ์ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิตามระเบียบของสหกรณ์
(6) เป็นทุนสาธารณประโยชน์ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิ ตามระเบียบของสหกรณ์
(7) เป็นทุนสวัสดิการ หรือการสงเคราะห์ตามสมควรแก่สมาชิกและครอบครัว ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิตามระเบียบของสหกรณ์
(8) เป็นทุนเพื่อจัดตั้งสำนักงานหรือทุนอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่สหกรณ์
(9) เป็นเงินกองทุนสงเคราะห์และสวัสดิการเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิตามระเบียบของสหกรณ์
(10) กำไรสุทธิส่วนที่เหลือ (ถ้ามี) ให้จัดสรรเป็นทุนสำรองทั้งสิ้น
กฎกระทรวง* ประกาศลงวันที่ 25 มกราคม 2560 กำหนดให้จัดสรรจากกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ในอัตราร้อยละหนึ่งของกำไรสุทธิ แต่ไม่เกินสามหมื่นบาท
ทุนสำรอง
ข้อ 27. ที่มาแห่งทุนสำรอง นอกจากจัดสรรจากกำไรสุทธิตามข้อ 26 แล้ว บรรดาเงินอุดหนุนหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้แก่สหกรณ์ ถ้าผู้ยกให้มิได้กำหนดว่าให้ใช้เพื่อการใด ให้จัดสรรเงินอุดหนุนหรือทรัพย์สิน
นั้นเป็นทุนสำรองของสหกรณ์
อนึ่ง จำนวนเงินซึ่งสหกรณ์พึงจ่ายแก่บุคคลใดก็ตาม ถ้าไม่มีการเรียกร้องจนพ้นกำหนดอายุความก็ให้สมทบจำนวนเงินนั้นเป็นทุนสำรอง
กำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการเสนอแนะให้ที่ประชุมใหญ่จัดสรรตาม ข้อ 26 หากที่ประชุมใหญ่พิจารณาแล้วเห็นว่ารายการใดไม่สมควรจัดสรรหรือตัดจำนวนให้น้อยลงก็ดี ยอดเงินจำนวนดังกล่าวให้สมทบเป็นทุนสำรองทั้งสิ้น
ข้อ 28. สภาพแห่งทุนสำรอง ทุนสำรองย่อมเป็นของสหกรณ์โดยส่วนรวม สมาชิกจะแบ่งปันกันไม่ได้หรือจะเรียกร้องแม้ส่วนใดส่วนหนึ่งก็ไม่ได้
ทุนสำรองนี้จะถอนจากบัญชีได้เพื่อชดเชยการขาดทุนอันหากบังเกิดขึ้น หรือเพื่อจัดสรรเข้าบัญชี ทุนสำรองให้แก่สหกรณ์ใหม่ที่ได้จดทะเบียนแบ่งแยกจากสหกรณ์เดิม
หมวด 5
สมาชิก
ข้อ 29. สมาชิก สมาชิกสหกรณ์นี้คือ
(1) ผู้ที่มีชื่อและลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกของสหกรณ์ และได้ชำระค่าหุ้นตามจำนวนที่จะถือครบถ้วนแล้ว
(2) ผู้ได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกตามข้อบังคับที่ได้ลงลายมือชื่อในทะเบียนสมาชิก และได้ชำระค่าหุ้นตามจำนวนที่จะถือครบถ้วนแล้ว
ข้อ 30. คุณสมบัติของสมาชิก สมาชิกต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(1) เป็นบุคคลธรรมดาและบรรลุนิติภาวะ
(2) เป็นผู้ที่มีอาชีพทางเกษตรกรรมและมีกิจการร่วมกันตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
(3) ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ อำเภอบ้านไผ่ อำเภอบ้านแฮด อำเภอโนนศิลา และอำเภอเปือยน้อย
จังหวัดขอนแก่น ไม่น้อยกว่า 180 วัน
(4) เป็นผู้ซื่อสัตย์ มีชื่อเสียงดี ขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพและรู้จักประหยัด
(5) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
(6) ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
(7) ไม่เป็นผู้เคยถูกให้ออกจากสหกรณ์ใด ๆ โดยมีความผิด เว้นแต่พ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่ถูกออก
ข้อ 31. การเข้าเป็นสมาชิก ผู้สมัครเป็นสมาชิกตามข้อบังคับต้องยื่นใบสมัครถึงสหกรณ์ตามแบบที่กำหนดไว้ เพื่อคณะกรรมการดำเนินการพิจารณา
ผู้สมัครจะต้องเข้าสังกัดกลุ่มสมาชิกในหมู่บ้านที่ตนมีถิ่นที่อยู่หรือหมู่บ้านใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ให้ยื่น ใบสมัครดังกล่าวในวรรคแรกผ่านประธานกลุ่มเพื่อเสนอที่ประชุมกลุ่ม (กลุ่มสมาชิกหรือกลุ่มผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก) สอบสวนพิจารณา
เมื่อที่ประชุมกลุ่ม (กลุ่มสมาชิกหรือกลุ่มผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก) ได้สอบสวนพิจารณาปรากฏว่า ผู้สมัครมีคุณสมบัติถูกต้องตามข้อ 30 ทั้งที่ประชุมกลุ่มเห็นสมควรและลงมติรับรองโดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามแห่งจำนวนผู้ที่เข้าประชุมแล้ว คณะกรรมการดำเนินการจึงรับพิจารณาผู้สมัครนั้นได้
เมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้สอบสวนพิจารณาเป็นที่พอใจว่าผู้สมัคร ซึ่งที่ประชุมกลุ่มรับรองแล้วนั้น มีคุณสมบัติถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในข้อ 30 ทั้งเห็นเป็นการสมควรรับเข้าเป็นสมาชิกได้ก็ให้แจ้งผู้สมัครนั้นลงลายมือชื่อของตนในทะเบียนสมาชิกกับชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้าและชำระค่าหุ้นตามจำนวนที่จะถือ จนครบถ้วนแล้ว จึงถือว่าได้เข้าเป็นสมาชิกของสหกรณ์ในสังกัดกลุ่มซึ่งรับรองนั้น
ให้สหกรณ์แจ้งเรื่องการรับสมาชิกเข้าใหม่ ให้ที่ประชุมกลุ่มทราบโดยเร็วและให้คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์เสนอเรื่องการรับสมาชิกเข้าใหม่ให้ที่ประชุมใหญ่คราวถัดไปทราบ
ถ้าคณะกรรมการดำเนินการไม่ยอมรับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกด้วยเหตุใด ๆ เมื่อผู้สมัครร้องขอ ก็ให้คณะกรรมการดำเนินการนำเรื่องเสนอที่ประชุมใหญ่เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด มติแห่งที่ประชุมใหญ่ให้รับเข้าเป็นสมาชิกในกรณีดังว่านี้ ให้ถือเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกซึ่งมาประชุม
ข้อ 32. ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ผู้เข้าเป็นสมาชิกจะต้องชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้าให้แก่สหกรณ์ คนละ 100 บาท ค่าธรรมเนียมแรกเข้านี้ให้ถือเป็นรายได้ของสหกรณ์จะเรียกคืนไม่ได้
ข้อ 33. สิทธิหน้าที่ในฐานะสมาชิก ผู้เข้าเป็นสมาชิกต้องลงลายมือชื่อของตนในทะเบียนสมาชิกกับชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าหุ้นตามจำนวนที่จะถือครบถ้วน เมื่อได้ปฏิบัติดังนี้แล้วจึงถือว่าได้สิทธิในฐานะสมาชิก
(ก) สิทธิของสมาชิกมีดังนี้
(1) เข้าประชุมใหญ่ เพื่อเสนอความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนน
(2) เข้าชื่อเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ
(3) เสนอหรือได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการดำเนินการหรือผู้ตรวจสอบกิจการ
(4) ได้รับบริการทางธุรกิจและทางวิชาการจากสหกรณ์
(5) สิทธิอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับข้ออื่นของสหกรณ์
(ข) หน้าที่ของสมาชิก มีดังนี้
(1) ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติ และคำสั่งของสหกรณ์
(2) เข้าประชุมทุกครั้งที่สหกรณ์นัดหมาย
(3) ส่งเสริมสนับสนุนกิจการของสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์เป็นองค์กรที่เข็มแข็ง
(4) สอดส่องดูแลกิจการของสหกรณ์
(5) ร่วมมือกับคณะกรรมการดำเนินการเพื่อพัฒนาสหกรณ์ให้เจริญรุ่งเรืองและมั่นคง
ข้อ 34. การเปลี่ยนแปลงชื่อ ชื่อสกุล คำนำหน้าชื่อ สัญชาติ และที่อยู่ สมาชิกคนใดเปลี่ยนแปลงชื่อ ชื่อสกุล คำนำหน้าชื่อ สัญชาติและที่อยู่ ต้องแจ้งให้สหกรณ์ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง
การตั้งผู้รับโอนประโยชน์
ข้อ 35. การตั้งผู้รับโอนประโยชน์ สมาชิกอาจทำหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ในเงินค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดจากสหกรณ์เมื่อตนถึงแก่ความตาย โดยมอบไว้แก่สหกรณ์เป็นหลักฐาน หนังสือตั้งผู้รับโอนประโยชน์ดังว่านี้ต้องทำตามลักษณะพินัยกรรม
ถ้าสมาชิกประสงค์จะเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ทำไว้แล้วก็ต้องทำเป็นหนังสือตามลักษณะดังกล่าวในวรรคก่อนมอบให้สหกรณ์ถือไว้
เมื่อสมาชิกตาย ให้สหกรณ์แจ้งให้ผู้รับโอนประโยชน์ตามความในวรรคก่อนทราบ สหกรณ์จะจ่ายค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดที่สมาชิกนั้นมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ตั้งไว้ หรือถ้ามิได้ตั้งไว้ ก็คืนให้แก่บุคคลที่ได้นำหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจของคณะกรรมการดำเนินการว่าเป็นทายาทของผู้มีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวนั้น ทั้งนี้ตามที่กำหนดในข้อ 40 และข้อ 41
ให้ผู้รับโอนประโยชน์ตามความในวรรคแรก ยื่นคำขอรับเงินผลประโยชน์ต่อสหกรณ์ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่สมาชิกตายหรือได้รับแจ้งจากสหกรณ์ โดยให้แนบสำเนามรณบัตรที่ทางราชการออกให้แสดงว่าสมาชิกนั้นๆ ได้ถึงแก่ความตายไปประกอบการพิจารณาด้วย เมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้พิจารณาและอนุมัติแล้ว สหกรณ์จะจ่ายเงินผลประโยชน์ดังกล่าวภายในสี่สิบห้าวัน ในกรณีผู้มีสิทธิรับเงินผลประโยชน์ไม่ยื่นคำขอรับเงินผลประโยชน์ หรือผู้ที่มีชื่อเป็นผู้รับโอนประโยชน์ที่สมาชิกได้จัดทำให้สหกรณ์ถือไว้ไม่มีตัวอยู่ก็ดี เมื่อพ้นกำหนดอายุความฟ้องคดี ให้สหกรณ์โอนจำนวนเงินดังกล่าวไปสมทบเป็นทุนสำรองของสหกรณ์ทั้งสิ้น
การขาดจากสมาชิกภาพ
ข้อ 36. การขาดจากสมาชิกภาพ สมาชิกย่อมขาดจากสมาชิกภาพเพราะเหตุใด ๆ ดังต่อไปนี้
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) ขาดคุณสมบัติตามข้อ 30
(4) ถูกให้ออกจากสหกรณ์
(5) ขาดประชุมกลุ่มติดต่อกันเกิน 5 ปี
ข้อ 37. การลาออกจากสหกรณ์ สมาชิกผู้ไม่มีหนี้สินกับสหกรณ์ในฐานะผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันหรือหนี้สินอื่นที่ผูกพันจะต้องชำระต่อสหกรณ์ อาจลาออกจากสหกรณ์ได้โดยแสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อ คณะกรรมการดำเนินการ และเมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้สอบสวนพิจารณาเห็นว่าเป็นการชอบด้วยข้อบังคับและอนุญาตแล้ว จึงให้ถือว่าออกจากสหกรณ์ได้
คณะกรรมการดำเนินการอาจมอบหมายให้ประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการ หรือกรรมการดำเนินการสอบสวนพิจารณา หากเห็นว่าเป็นการชอบด้วยข้อบังคับ ก็ให้ถือว่าออกจากสหกรณ์ตามความในวรรคก่อนได้ แล้วให้เสนอคณะกรรมการดำเนินการในการประชุมคราวถัดไปทราบด้วย
ข้อ 38. การให้ออกจากสหกรณ์ สมาชิกอาจถูกให้ออกจากสหกรณ์เพราะเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1) ไม่ชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้า
(2) มีกรณีใด ๆ ซึ่งสหกรณ์ต้องเรียกคืนเงินกู้
(3) ขาดชำระเงินค่าน้ำ ค่าบำรุงที่ดิน ค่าเช่า ค่าบริการหรือเงินอื่นใดให้เสร็จภายในเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
(4) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษหรือความผิดที่มีกำหนดโทษขั้นลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
(5) จงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์หรือของที่ประชุมกลุ่มซึ่งตนสังกัด หรือประพฤติการใด ๆ อันเป็นเหตุให้เห็นว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริต แสดงตนเป็นปฏิปักษ์หรือเสื่อมเสียต่อสหกรณ์หรือขบวนการสหกรณ์หรือกลุ่มสมาชิกไม่ว่าโดยประการใด ๆ
เมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้สอบสวนพิจารณาปรากฏว่า สมาชิกมีเหตุใด ๆ ดังกล่าวข้างต้นและได้ลงมติให้สมาชิกออกโดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามแห่งจำนวนกรรมการดำเนินการที่มีอยู่ทั้งหมดในขณะนั้นแล้ว ก็เป็นอันถือว่าสมาชิกนั้นถูกให้ออกจากสหกรณ์
สมาชิกที่ถูกให้ออกจากสหกรณ์มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่โดยให้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการดำเนินการ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบมติการให้ออก คำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ให้เป็นที่สุด
ข้อ 39. การถอนชื่อสมาชิกออกจากทะเบียนสมาชิก ในกรณีที่สมาชิกออกจากสหกรณ์ไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ ให้คณะกรรมการดำเนินการถอนชื่อสมาชิกออกจากทะเบียนสมาชิก
อนึ่ง ให้สหกรณ์แจ้งเรื่องสมาชิกออกให้ประธานกลุ่ม (ถ้ามี) ซึ่งเกี่ยวข้องเสนอที่ประชุมกลุ่มทราบโดยเร็ว
ข้อ 40. การจ่ายคืนจำนวนเงินของสมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพ ในกรณีที่สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพเพราะเหตุตามข้อ 36 (1) (2) (3) นั้น สหกรณ์จะจ่ายคืนค่าหุ้น ที่สมาชิกมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้ก่อนค่าหุ้นของสมาชิกซึ่งออกเพราะเหตุอื่น พร้อมด้วยเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนค้างจ่ายบรรดาที่สมาชิกนั้นมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับ โดยเฉพาะค่าหุ้นนั้นผู้มีสิทธิได้รับจะเรียกให้ สหกรณ์จ่ายคืนทันทีโดยไม่มีเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนสำหรับปีที่ออกนั้น หรือจะเรียกให้จ่ายคืนหลังวันสิ้นปีทางบัญชีที่ออก โดยได้รับเป็นเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนสำหรับปีที่ออกนั้นด้วยในเมื่อที่ประชุมใหญ่มีมติให้จัดสรรกำไรสุทธิประจำปีนั้นแล้วก็ได้ สุดแต่จะเลือกส่วนเงินรับฝากและดอกเบี้ยนั้นสหกรณ์จะจ่ายคืนให้ตามระเบียบของสหกรณ์ เว้นแต่สมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพเพราะเหตุต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย สหกรณ์จะจ่ายค่าหุ้น เงินรับฝาก เงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนกับดอกเบี้ยค้างจ่ายบรรดาที่สมาชิกนั้นมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้ตามกฎหมายล้มละลาย
ถ้าในปีใด จำนวนค่าหุ้นที่ถอนคืนเนื่องจากสมาชิกขาดจากสมาชิกภาพจะเกินร้อยละสิบแห่งทุนเรือนหุ้นของสหกรณ์ตามที่มีอยู่ในวันต้นปีนั้น คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจให้รอการจ่ายคืนค่าหุ้นของสมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพรายต่อไปในปีนั้นไว้จนถึงปีทางบัญชีใหม่
ในกรณีที่สมาชิกขาดสมาชิกภาพเพราะเหตุตามข้อ 36 (4) นั้น สหกรณ์จะจ่ายค่าหุ้น เงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนกับดอกเบี้ยค้างจ่ายบรรดาที่สมาชิกนั้นมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้ภายในเวลาอันสมควร โดยไม่มี เงินปันผลหรือเงินเฉลี่ยคืนตั้งแต่ปีที่ออกจากสหกรณ์ หรือหากสมาชิกขอให้จ่ายค่าหุ้นภายหลังวันสิ้นปีโดย
ขอรับเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนในปีนั้นภายหลังที่ที่ประชุมใหญ่ได้พิจารณาจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีก็ได้ ส่วน เงินรับฝากและดอกเบี้ยนั้นสหกรณ์จะจ่ายให้ตามระเบียบของสหกรณ์
ในกรณีสหกรณ์ขาดทุนสะสมหรือมีแนวโน้มจะขาดทุนสะสม ให้ชะลอการจ่ายคืนค่าหุ้นแก่สมาชิก
ที่พ้นจากสมาชิกภาพในระหว่างปีจนกว่าจะปิดบัญชีประจำปี และให้คำนวณเงินค่าหุ้นจ่ายคืนต่อหุ้นที่จะจ่ายคืน
แก่สมาชิกโดยนำทุนเรือนหุ้นทั้งหมดหักด้วยขาดทุนสะสมคงเหลือและหนี้สินทั้งสิ้นแล้วนำมาเฉลี่ยโดยใช้จำนวนหุ้นทั้งสิ้นเป็นฐานในการคำนวณ
เมื่อสหกรณ์มีการคำนวณมูลค่าเงินค่าหุ้นจ่ายคืนต่อหุ้นแล้ว ในปีต่อ ๆ ไป สหกรณ์ต้องคำนวณมูลค่าเงินค่าหุ้นจ่ายคืนต่อหุ้นให้เป็นปัจจุบันทุกปี และมูลค่าดังกล่าวจะต้องไม่สูงกว่ามูลค่าต่อหุ้นที่กำหนดไว้ในข้อ 5 จนกว่าสหกรณ์ไม่มียอดขาดทุนสะสม
ข้อ 41. การหักจำนวนเงินซึ่งสมาชิกต้องรับผิดต่อสหกรณ์ ในการจ่ายคืนจำนวนเงินของสมาชิกตามข้อ 40 นั้น ให้สหกรณ์หักจำนวนเงินซึ่งสมาชิกต้องรับผิดต่อสหกรณ์ออกก่อน
กลุ่มสมาชิก
ข้อ 42. กลุ่มสมาชิก สหกรณ์อาจจัดตั้งกลุ่มสมาชิกขึ้นโดยรวมสมาชิกผู้มีถิ่นอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันหรือใกล้เคียงกันเข้าเป็นกลุ่มสมาชิกได้
การจัดกลุ่ม การประชุมกลุ่ม กิจกรรมของที่ประชุมกลุ่ม การเลือกตั้งจำนวนกรรมการบริหารกลุ่ม การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการประชุมของคณะกรรมการบริหารกลุ่มให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์
ความรับผิดเพื่อหนี้สินของสหกรณ์
ข้อ 43. ความรับผิดของสมาชิก สมาชิกมีความรับผิดเพื่อหนี้สินของสหกรณ์จำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ
หมวด 6
สมาชิกสมทบ
ข้อ 44. สมาชิกสมทบ สหกรณ์อาจรับสมาชิกสมทบได้ตามที่เห็นสมควร โดยต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกสมทบด้วยความสมัครใจ และมีความประสงค์จะใช้บริการต่าง ๆ ของสหกรณ์เป็นการประจำ
ข้อ 45. คุณสมบัติของสมาชิกสมทบ สมาชิกสมทบต้องมีคุณสมบัติดังนี้
(1) เป็นผู้เห็นชอบในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
(2) เป็นบุคคลธรรมดาและบรรลุนิติภาวะที่ขาดคุณสมบัติตามข้อ 30
- ตั้งบ้านเรือนอยู่ท้องที่ อำเภอบ้านไผ่ อำเภอบ้านแฮด อำเภอโนนศิลา และอำเภอเปือยน้อย
จังหวัดขอนแก่น
(4) เป็นผู้ที่มีความประพฤติดีงาม
(5) เป็นผู้ที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์
ข้อ 46. การเข้าเป็นสมาชิกสมทบ ผู้ประสงค์สมัครเข้าเป็นสมาชิกสมทบต้องยื่นใบสมัครถึง สหกรณ์ตามแบบที่กำหนดไว้ โดยต้องมีสมาชิกสหกรณ์นี้ไม่น้อยกว่า 2 คนรับรอง เมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้สอบสวนพิจารณาเห็นว่า ผู้สมัครมีคุณสมบัติถูกต้องตามที่กำหนดในข้อ 45 ทั้งเห็นเป็นการสมควรแล้วก็ให้รับเข้าเป็นสมาชิกสมทบได้และต้องจัดให้ผู้สมัครได้ลงลายมือชื่อในทะเบียนสมาชิกสมทบกับชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าหุ้นตามที่จะถือครบถ้วน
เมื่อสมาชิกสมทบได้ปฏิบัติตามวรรคก่อนแล้วย่อมได้สิทธิในฐานะสมาชิกสมทบ
ข้อ 47. ค่าธรรมเนียมแรกเข้าของสมาชิกสมทบ ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสมทบต้องชำระ
ค่าธรรมเนียมแรกเข้าให้แก่สหกรณ์ คนละ 100 บาท ค่าธรรมเนียมแรกเข้านี้ให้ถือว่าเป็นรายได้ของสหกรณ์ จะเรียกคืนไม่ได้ไม่ว่าด้วยกรณีใดๆ
ข้อ 48. สิทธิและหน้าที่ในฐานะสมาชิกสมทบ สมาชิกสมทบมีสิทธิและหน้าที่เฉพาะในส่วนที่ไม่ขัดกับกฎหมายสหกรณ์
(ก) สิทธิของสมาชิกสมทบ มีดังนี้
(1) ฝากเงินกับสหกรณ์
(2) ซื้อ-ขาย ผลผลิตทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์แปรรูป กับสหกรณ์
(ข) หน้าที่ของสมาชิกสมทบ มีดังนี้
(1) ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติ และคำสั่งของสหกรณ์
(2) เข้าร่วมประชุมทุกครั้งที่สหกรณ์นัดหมาย
(3) ส่งเสริมสนับสนุนกิจการของสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์เป็นองค์กรที่เข็มแข็ง
(4) สอดส่องดูแลกิจการของสหกรณ์
(5) ร่วมมือกับคณะกรรมการดำเนินการเพื่อพัฒนาสหกรณ์ให้เจริญรุ่งเรืองและมั่นคง
(ค) สมาชิกสมทบไม่ให้มีสิทธิในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) นับชื่อสมาชิกสมทบเข้าเป็นองค์ประชุมใหญ่
(2) ออกเสียงลงมติในเรื่องใด ๆ ของสหกรณ์
(3) เป็นกรรมการดำเนินการของสหกรณ์
(4) กู้เงินจากสหกรณ์
การขาดจากสมาชิกภาพของสมาชิกสมทบ
ข้อ 49. การขาดจากสมาชิกภาพของสมาชิกสมทบ สมาชิกสมทบย่อมขาดจากสมาชิกภาพเพราะเหตุใด ๆ ดังต่อไปนี้
(1) ตาย
(2) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
(3) ต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย
(4) ลาออกจากสหกรณ์ และได้รับอนุญาตแล้ว
(5) ถูกให้ออกจากสหกรณ์
ข้อ 50. การลาออกจากสหกรณ์ของสมาชิกสมทบ สมาชิกสมทบอาจขอลาออกจากสหกรณ์ได้โดยแสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการดำเนินการ และเมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้สอบสวนพิจารณาเห็นว่าเป็นการชอบด้วยข้อบังคับและอนุญาตแล้วจึงให้ถือว่าออกจากสหกรณ์ได้
ข้อ 51. การให้ออกจากสหกรณ์ สมาชิกสมทบอาจถูกให้ออกจากสหกรณ์เพราะเหตุใด ๆ ดังต่อไปนี้
(1) ไม่ชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้า
(2) ไม่ลงลายมือชื่อในทะเบียนสมาชิกสมทบ
(3) ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติและคำสั่งของสหกรณ์
(4) แสดงตนเป็นปฏิปักษ์หรือทำให้เสื่อมเสียต่อสหกรณ์หรือขบวนการสหกรณ์ไม่ว่าโดยประการใดๆ
ข้อ 52. การเปลี่ยนแปลงชื่อ สัญชาติ และที่อยู่ของสมาชิกสมทบ สมาชิกสมทบคนใดมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่อง ชื่อ สัญชาติและที่อยู่ ต้องแจ้งให้สหกรณ์ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง
ข้อ 53. การตั้งผู้รับโอนประโยชน์ของสมาชิกสมทบ สมาชิกสมทบอาจทำหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ในเงินค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดจากสหกรณ์เมื่อตนถึงแก่ความตาย โดยมอบไว้แก่สหกรณ์เป็นหลักฐาน หนังสือตั้งผู้รับโอนประโยชน์ดังว่านี้ต้องทำตามลักษณะพินัยกรรม
ถ้าสมาชิกสมทบประสงค์จะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ทำไว้แล้ว ก็ต้องทำเป็นหนังสือตามลักษณะดังกล่าวในวรรคก่อนมอบให้สหกรณ์ถือไว้
เมื่อสมาชิกสมทบตาย ให้สหกรณ์แจ้งให้ผู้รับโอนประโยชน์ตามความในวรรคก่อนทราบและสหกรณ์จะจ่ายเงินค่าหุ้น เงินรับฝาก เงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน และเงินผลประโยชน์หรือเงินอื่นใดบรรดาที่สมาชิกสมทบผู้ตายมีอยู่ในสหกรณ์ให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ตั้งไว้ หรือถ้ามิได้ตั้งไว้ ก็คืนให้แก่บุคคลที่ได้นำหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจของคณะกรรมการดำเนินการว่าเป็นทายาทของผู้มีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวนั้น ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อ 54 และข้อ 55
ให้ผู้รับโอนประโยชน์ตามความในวรรคแรก ยื่นคำขอรับเงินผลประโยชน์ต่อสหกรณ์ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่สมาชิกสมทบตายหรือได้รับแจ้งจากสหกรณ์ โดยให้แนบสำเนามรณบัตรที่ทางราชการออกให้แสดงว่าสมาชิกสมทบนั้นๆ ได้ถึงแก่ความตายไปประกอบการพิจารณาด้วย เมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้พิจารณาและอนุมัติแล้ว สหกรณ์จะจ่ายเงินผลประโยชน์ดังกล่าวภายในสี่สิบห้าวัน ในกรณีผู้มีสิทธิรับเงิน ผลประโยชน์ไม่ยื่นคำขอรับเงินผลประโยชน์ หรือผู้ที่มีชื่อเป็นผู้รับโอนประโยชน์ที่สมาชิกสมทบได้จัดทำให้ สหกรณ์ถือไว้ไม่มีตัวอยู่ก็ดี เมื่อพ้นกำหนดอายุความฟ้องคดีให้สหกรณ์โอนจำนวนเงินดังกล่าวไปสมทบเป็นทุนสำรองของสหกรณ์ทั้งสิ้น
ข้อ 54. การจ่ายคืนจำนวนเงินของสมาชิกสมทบที่ขาดจากสมาชิกภาพ ในกรณีที่สมาชิกสมทบขาดจากสมาชิกภาพเพราะเหตุตามข้อ 49 (1) (2) (4) นั้น สหกรณ์จะจ่ายคืนค่าหุ้นที่สมาชิกสมทบมีอยู่ใน สหกรณ์ให้ก่อนค่าหุ้นของสมาชิกสมทบซึ่งออกเพราะเหตุอื่น พร้อมด้วยเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนค้างจ่ายบรรดาที่สมาชิกสมทบนั้นมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับ โดยเฉพาะค่าหุ้นนั้นผู้มีสิทธิได้รับจะเรียกให้สหกรณ์จ่ายคืนทันทีโดยไม่มีเงินปันผลหรือเงินเฉลี่ยคืนสำหรับปีที่ออกนั้น หรือจะเรียกให้จ่ายคืนหลังจากวันสิ้นปีทางบัญชีที่ออกโดยได้รับเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนสำหรับปีที่ออกนั้นด้วยในเมื่อที่ประชุมใหญ่มีมติให้จัดสรรกำไรสุทธิประจำปีนั้นแล้วก็ได้ สุดแต่จะเลือก ส่วนเงินรับฝากและดอกเบี้ยนั้น สหกรณ์จะจ่ายคืนให้ตามระเบียบของ สหกรณ์
ถ้าในปีใด จำนวนค่าหุ้นที่ถอนคืนเนื่องจากสมาชิกสมทบขาดจากสมาชิกภาพจะเกินร้อยละสิบแห่งทุนเรือนหุ้นของสหกรณ์ตามที่มีอยู่ในวันต้นปีนั้น คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจให้รอการจ่ายคืนค่าหุ้นของสมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพรายต่อไปในปีนั้นไว้จนถึงปีทางบัญชีใหม่
ในกรณีที่สมาชิกสมทบขาดจากสมาชิกภาพเพราะเหตุตามข้อ 49 (3) สหกรณ์จะจ่ายค่าหุ้น เงินรับฝาก เงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนกับดอกเบี้ยค้างจ่ายบรรดาที่สมาชิกสมทบนั้นมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้ตามกฎหมาย ล้มละลาย
ในกรณีที่สมาชิกสมทบขาดจากสมาชิกภาพเพราะเหตุตามข้อ 49 (5) นั้น สหกรณ์จะจ่ายค่าหุ้น เงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนกับดอกเบี้ยค้างจ่ายบรรดาที่สมาชิกสมทบนั้นมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้ภายในเวลาอัน สมควรโดยไม่มีเงินปันผลหรือเงินเฉลี่ยคืนตั้งแต่ปีที่ออกจากสหกรณ์ หรือหากสมาชิกสมทบขอให้จ่ายค่าหุ้น ภายหลังวันสิ้นปีโดยขอรับเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนในปีนั้นภายหลังที่ที่ประชุมใหญ่ได้พิจารณาจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีก็ได้ ส่วนเงินรับฝากและดอกเบี้ยนั้นสหกรณ์จะจ่ายให้ตามระเบียบของสหกรณ์
ในกรณีสหกรณ์ขาดทุนสะสมหรือมีแนวโน้มจะขาดทุนสะสม ให้ชะลอการจ่ายคืนค่าหุ้นแก่สมาชิก สมทบที่พ้นจากสมาชิกภาพในระหว่างปีจนกว่าจะปิดบัญชีประจำปี และให้คำนวณเงินค่าหุ้นจ่ายคืนต่อหุ้นที่จะจ่ายคืนแก่สมาชิกสมทบโดยนำทุนเรือนหุ้นทั้งหมดหักด้วยขาดทุนสะสมคงเหลือและหนี้สินทั้งสิ้นแล้วนำมาเฉลี่ยโดยใช้จำนวนหุ้นทั้งสิ้นเป็นฐานในการคำนวณ
เมื่อสหกรณ์มีการคำนวณมูลค่าเงินค่าหุ้นจ่ายคืนต่อหุ้นแล้ว ในปีต่อๆ ไป สหกรณ์ต้องคำนวณมูลค่าเงินค่าหุ้นจ่ายคืนต่อหุ้นให้เป็นปัจจุบันทุกปี และมูลค่าดังกล่าวจะต้องไม่สูงกว่ามูลค่าต่อหุ้นที่กำหนดไว้ในข้อ 5 จนกว่าสหกรณ์ไม่มียอดขาดทุนสะสม
ข้อ 55. การหักจำนวนเงินซึ่งสมาชิกสมทบต้องรับผิดต่อสหกรณ์ ในการจ่ายคืนจำนวนเงินของสมาชิกสมทบตามข้อ 54 นั้น ให้สหกรณ์หักจำนวนเงินซึ่งสมาชิกสมทบต้องรับผิดต่อสหกรณ์ออกก่อน
ข้อ 56. การถอนชื่อสมาชิกสมทบออกจากทะเบียนสมาชิก ในกรณีที่สมาชิกสมทบออกจากสหกรณ์ไม่ว่าเพราะเหตุใด ให้คณะกรรมการดำเนินการถอนชื่อสมาชิกออกจากทะเบียนสมาชิกสมทบ
หมวด 7
การประชุมใหญ่
ข้อ 57. การประชุมใหญ่สามัญ ให้คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์นัดสมาชิกมาประชุมกันเป็นการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่จดทะเบียนสหกรณ์ เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการและมอบหมายการทั้งปวงให้แก่คณะกรรมการดำเนินการ
การประชุมใหญ่สามัญครั้งต่อไป ให้คณะกรรมการดำเนินการเรียกประชุมปีละหนึ่งครั้งภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์
ข้อ 58. การประชุมใหญ่วิสามัญ คณะกรรมการดำเนินการจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็ได้ แต่ ถ้านายทะเบียนสหกรณ์มีหนังสือแจ้งให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ หรือในกรณีที่สหกรณ์ขาดทุนเกินกึ่งของจำนวนทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้วต้องเรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยมิชักช้า แต่ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่สหกรณ์ทราบ
สมาชิกซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน หรือผู้แทนสมาชิกซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนผู้แทนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าห้าสิบคน
ลงลายมือชื่อทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการดำเนินการให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็ได้ และให้คณะกรรมการดำเนินการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รับคำร้องขอ ถ้าคณะกรรมการดำเนินการไม่เรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้นายทะเบียนสหกรณ์หรือเจ้าหน้าที่ซึ่ง
นายทะเบียนสหกรณ์มอบหมายมีอำนาจเรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้ภายในระยะเวลาที่เห็นสมควร
ข้อ 59. การประชุมใหญ่โดยผู้แทนสมาชิก กรณีที่สหกรณ์มีสมาชิกเกินกว่า 2,000 คน ให้การประชุมใหญ่ประกอบด้วยผู้แทนสมาชิกเท่านั้น
ข้อ 60. การเลือกตั้งและการดำรงตำแหน่งผู้แทนสมาชิก
(1) สมาชิกเท่านั้นมีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนสมาชิก
(2) การเลือกตั้งผู้แทนสมาชิกคราวหนึ่ง ๆ ให้กระทำในที่ประชุมกลุ่มก่อนการประชุมใหญ่สามัญของสหกรณ์ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และให้ประธานกลุ่มหรือเลขานุการกลุ่ม (ถ้ามี) หรือตัวแทนกลุ่มแจ้งรายชื่อผู้แทนสมาชิกในกลุ่มของตนต่อสหกรณ์โดยมิชักช้า
(3) ให้ที่ประชุมกลุ่มดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนสมาชิก โดยอัตราส่วนจำนวนสมาชิก 30 คน ต่อผู้แทนสมาชิกหนึ่งคน ถ้าเศษของอัตราส่วนดังกล่าวเกินกึ่งให้เลือกตั้งผู้แทนสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน ในจำนวนนี้ให้ประธานกลุ่ม (ถ้ามี) เป็นผู้แทนสมาชิกโดยตำแหน่ง โดยให้นับรวมอยู่ในจำนวนผู้แทนสมาชิกที่กลุ่มพึงเลือกตั้งได้ อนึ่ง จำนวนผู้แทนสมาชิกจะมีน้อยกว่าหนึ่งร้อยคนไม่ได้
(4) ให้ผู้แทนสมาชิกอยู่ในตำแหน่งคราวละหนึ่งปีทางบัญชีของสหกรณ์ ถ้ายังไม่มีการเลือกตั้งผู้แทนสมาชิกใหม่ ก็ให้ผู้แทนสมาชิกคนเดิมอยู่ในตำแหน่งต่อไปพลางก่อน
(5) ให้ผู้แทนสมาชิกไม่เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้
ข้อ 61. การพ้นจากตำแหน่ง ผู้แทนสมาชิกพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ครบวาระหรือมีการเลือกตั้งผู้แทนสมาชิกใหม่
(2) ลาออกโดยยื่นใบลาออกต่อที่ประชุมกลุ่มซึ่งตนสังกัด
(3) ออกจากกลุ่มที่ตนสังกัด
(4) ขาดจากสมาชิกภาพ
(5) ที่ประชุมกลุ่มซึ่งตนสังกัดลงมติถอดถอน
ข้อ 62. ตำแหน่งผู้แทนสมาชิกว่างก่อนถึงคราวออกตามวาระ ถ้าผู้แทนสมาชิกพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยประการใด ๆ จนทำให้จำนวนผู้แทนสมาชิกเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยคนหรือเหลือไม่ถึงสามในสี่ของจำนวน ผู้แทนสมาชิกทั้งหมด ก็ให้ที่ประชุมกลุ่มดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนสมาชิกให้ครบตามจำนวนที่ว่างลง และให้ผู้แทนสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาที่ผู้ซึ่งตนแทนนั้นชอบจะอยู่ได้
ข้อ 63. การแจ้งกำหนดการประชุมใหญ่ เมื่อมีการประชุมใหญ่ทุกคราว ให้สหกรณ์มีหนังสือแจ้ง วัน เวลา สถานที่ และเรื่องที่จะประชุมให้บรรดาสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน แต่ถ้าการประชุมนั้นเป็นการด่วนอาจแจ้งล่วงหน้าได้ตามสมควร ทั้งนี้ให้ประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการหรือเลขานุการเป็นผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือนั้น และต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทราบล่วงหน้า ในโอกาสเดียวกันกับที่แจ้งให้สมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกทราบด้วย
ข้อ 64. องค์ประชุมในการประชุมใหญ่ การประชุมใหญ่ของสหกรณ์ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน ในกรณีเป็นการประชุมใหญ่โดยผู้แทนสมาชิกต้องมีผู้แทนสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้แทนสมาชิกทั้งหมดหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในกรณีที่ที่ประชุมใหญ่โดยผู้แทนสมาชิก สมาชิกทั่วไปสามารถเข้าร่วมประชุมใหญ่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ได้ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงและแสดงความคิดเห็นหรือได้รับเลือกตั้งใด ๆ ทั้งสิ้น
ในการประชุมใหญ่ สมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาประชุมแทนตนไม่ได้
ข้อ 65. การนัดประชุมใหญ่ครั้งที่สอง ในการประชุมใหญ่ของสหกรณ์ถ้าสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกแล้วแต่กรณี มาประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้นัดประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่นัดประชุมใหญ่ครั้งแรก ในการประชุมครั้งหลังนี้ถ้ามิใช่การประชุมใหญ่วิสามัญที่สมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกร้องขอให้เรียกประชุม เมื่อมีสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิก แล้วแต่กรณี มาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกหรือ ผู้แทนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าสามสิบคนก็ให้ถือเป็นองค์ประชุม แต่ถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่สมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกร้องขอให้เรียกประชุม เมื่อมีสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกมาประชุมมีจำนวน ไม่ถึงที่จะเป็นองค์ประชุมตามที่กล่าวในข้อ 64 วรรคแรก ก็ให้งดประชุม
ข้อ 66. อำนาจหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่ ที่ประชุมใหญ่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยเรื่องทั้งปวงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของสหกรณ์ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1) รับทราบเรื่องการรับสมาชิกเข้าใหม่ สมาชิกออกจากสหกรณ์ การเลือกตั้งผู้แทนสมาชิกและวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของผู้สมัครซึ่งมิได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกและสมาชิกที่ถูกให้ออกจากสหกรณ์
(2) พิจารณาเลือกตั้งและถอดถอนกรรมการดำเนินการและผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์
(3) พิจารณาอนุมัติงบดุล และจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์
(4) รับทราบรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์จากคณะกรรมการดำเนินการ และผลการตรวจสอบประจำปีจากผู้ตรวจสอบกิจการ
(5) พิจารณากำหนดบำเหน็จค่าตอบแทนการปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบกิจการ
(6) พิจารณากำหนดวงเงินซึ่งสหกรณ์อาจกู้ยืมหรือค้ำประกัน
(7) อนุมัติแผนงานและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสหกรณ์
(8) พิจารณาการแยกสหกรณ์ การควบสหกรณ์
(9) กำหนดค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าเช่าที่พัก และค่าเบี้ยประชุมของกรรมการดำเนินการ กรรมการอื่น ๆ ที่ปรึกษาและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์
(10) พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ
(11) รับทราบเรื่องการดำเนินงานของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และชุมนุมสหกรณ์ ที่สหกรณ์นี้เป็นสมาชิกอยู่
(12) พิเคราะห์และปฏิบัติตามบันทึกหรือหนังสือของนายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียน สหกรณ์ ผู้ตรวจการสหกรณ์ ผู้สอบบัญชี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย
(13) กำหนดรูปการซึ่งสหกรณ์คิดจะทำเป็นเครื่องเกื้อหนุนบรรดาสมาชิกตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
หมวด 8
คณะกรรมการดำเนินการ
ข้อ 67. คณะกรรมการดำเนินการ ให้สหกรณ์มีคณะกรรมการดำเนินการประกอบด้วย ประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการดำเนินการอีก 14 คน ซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิก
ให้กรรมการดำเนินการเลือกตั้งในระหว่างกันเองขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคน เลขานุการคนหนึ่ง และ/หรือเหรัญญิกคนหนึ่ง นอกนั้นเป็นกรรมการ และปิดประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ณ สำนักงานของสหกรณ์
ในการสรรหาคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่
ห้ามไม่ให้บุคคลซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นหรือทำหน้าที่กรรมการดำเนินการ
(1) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(2) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ องค์การ หน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ฐานทุจริตต่อหน้าที่
(3) เคยถูกให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการหรือมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์
(4) เคยถูกที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งกรรมการเพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่
(5) สมาชิกซึ่งผิดนัดการชำระหนี้ ไม่ว่าต้นเงินหรือดอกเบี้ย ในระยะเวลาสองปีทางบัญชีนับแต่ปีที่ผิดนัดถึงปีที่เลือกตั้งกรรมการดำเนินการ เว้นแต่การผิดนัดนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง
(6) ผู้ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสหกรณ์นี้
(7) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น
ข้อ 68. อำนาจหน้าที่ของกรรมการดำเนินการแต่ละตำแหน่ง
(ก) ประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(1) เป็นประธานในที่ประชุมใหญ่และที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ และควบคุมการประชุมดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
(2) ควบคุมดูแลการดำเนินงานทั่วไปของสหกรณ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและอยู่ในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
(3) ลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ ในนามสหกรณ์ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
(4) ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายให้ ภายใต้กฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์
(ข) รองประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(1) ปฏิบัติการในอำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการแทนประธานกรรมการเมื่อ ประธานกรรมการไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อตำแหน่งประธานกรรมการว่างลง
(2) ปฏิบัติการตามที่ประธานกรรมการมอบหมายให้
(3) ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายให้ ภายใต้กฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์
(ค) เลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(1) จัดทำรายงานการประชุมใหญ่และรายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการทุกครั้ง
(2) ดูแล รักษาเอกสารและรายงานการประชุมของสหกรณ์ให้เรียบร้อยอยู่เสมอ
(3) แจ้งนัดประชุมไปยังบรรดาสมาชิกหรือกรรมการดำเนินการ แล้วแต่กรณี
(4) ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายให้ ภายใต้กฎหมาย
ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์
(ง) เหรัญญิก มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(1) ควบคุม ดูแล ตรวจสอบการรับจ่าย การเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของสหกรณ์ให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย
(2) ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายให้ ภายใต้กฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์
ข้อ 69. กำหนดเวลาอยู่ในตำแหน่ง คณะกรรมการดำเนินการ มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปีนับแต่วันเลือกตั้ง ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบหนึ่งปีนับแต่วันเลือกตั้ง ให้กรรมการดำเนินการสหกรณ์ออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนหนึ่งในสองของกรรมการดำเนินการทั้งหมดโดยวิธีจับสลาก (ถ้ามีเศษให้ปัดขึ้น) และให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ในปีต่อไปให้กรรมการดำเนินการที่อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระหรืออยู่นานที่สุดออกจากตำแหน่งสลับกันไปทุก ๆ ปี
เมื่อครบกำหนดแล้ว หากยังไม่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการชุดใหม่ ก็ให้คณะกรรมการ ดำเนินการชุดเดิมรักษาการไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการชุดใหม่ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์
กรรมการดำเนินการสหกรณ์ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับเลือกตั้งซ้ำอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
ในกรณีที่กรรมการดำเนินการต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้กรรมการดำเนินการที่ได้รับเลือกตั้งใหม่อยู่ในตำแหน่งได้เช่นเดียวกับกรรมการดำเนินการชุดแรกและให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 70. การพ้นจากตำแหน่ง กรรมการดำเนินการพ้นจากตำแหน่ง เพราะเหตุใด ๆ ดังต่อไปนี้
(1) ถึงคราวออกตามวาระ
(2) ลาออกโดยแสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการดำเนินการ หรือลาออกต่อที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์
(3) ขาดจากสมาชิกภาพ
(4) เข้ารับตำแหน่งหน้าที่ประจำในสหกรณ์นี้
(5) ตกเป็นผู้ผิดนัดการส่งชำระหนี้ไม่ว่าเงินต้นหรือดอกเบี้ย
(6) ที่ประชุมใหญ่ลงมติถอดถอนทั้งคณะหรือรายตัว
(7) นายทะเบียนสหกรณ์สั่งให้ออกทั้งคณะหรือรายตัว
(8) ขาดประชุมคณะกรรมการดำเนินการติดต่อกันสามครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
ให้กรรมการดำเนินการผู้มีส่วนได้เสียตาม (7) อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติให้เป็นที่สุด
กรณีที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติถอดถอนให้กรรมการดำเนินการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการใหม่ทั้งคณะอยู่ในตำแหน่งได้เช่นเดียวกับคณะกรรมการดำเนินการชุดแรก
ข้อ 71. ตำแหน่งว่างก่อนถึงคราวออกตามวาระ ถ้าตำแหน่งกรรมการดำเนินการว่างลงก่อนถึงคราวออกตามวาระ (เว้นแต่เพราะเหตุตามข้อ 70 (7) ) ให้กรรมการดำเนินการที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะมีการประชุมใหญ่ซึ่งจะได้มีการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการแทนในตำแหน่งที่ว่าง แต่ถ้าในเวลาใดจำนวนกรรมการดำเนินการลดลงจนเหลือน้อยกว่าองค์ประชุม กรรมการดำเนินการที่ดำรงตำแหน่งอยู่จะประชุมดำเนินการใด ๆ ไม่ได้ นอกจากต้องนัดเรียกให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นโดยเร็ว
ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการดำเนินการว่างลงก่อนถึงคราวออกตามวาระตามความในวรรคก่อนนั้นเป็นตำแหน่งประธานกรรมการ หากไม่มีรองประธานกรรมการทำหน้าที่แทนและยังมิได้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งใหม่ คณะกรรมการดำเนินการอาจพิจารณาเลือกตั้งกรรมการดำเนินการอื่นขึ้นทำหน้าที่แทนชั่วคราวจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่
กรรมการดำเนินการซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งขึ้นแทนในตำแหน่งที่ว่าง ให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาที่ผู้ซึ่งตนแทนนั้นชอบจะอยู่ได้
ข้อ 72. การประชุมและองค์ประชุม ให้คณะกรรมการดำเนินการประชุมกันตามคราวที่มีกิจธุระแต่ต้องให้มีการประชุมเดือนละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย
ให้ประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการ หรือเลขานุการ เรียกประชุมคณะกรรมการดำเนินการได้ ในกรณีที่เป็นการประชุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขระเบียบ ข้อบังคับและเรื่องที่สำคัญอื่นๆของสหกรณ์ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทราบด้วยทุกคราว
ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ ต้องมีกรรมการดำเนินการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการดำเนินการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ 73. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการ คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการทั้งปวงของสหกรณ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ กับทั้งในทางอันจะทำให้เกิดความจำเริญแก่สหกรณ์ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1) พิจารณาในเรื่องการรับสมาชิกและสมาชิกออกจากสหกรณ์ ตลอดจนดูแลให้สมาชิกปฏิบัติการต่าง ๆ ตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์
(2) พิจารณาดำเนินการในเรื่องผลิตผลและผลิตภัณฑ์ของสมาชิกหรือที่ซื้อจากสหกรณ์อื่น หรือบุคคลอื่นเพื่อจำหน่าย
(3) พิจารณาดำเนินการเรื่องการจัดซื้อสิ่งของที่บรรดาสมาชิกมีความต้องการมาจำหน่าย
(4) วางข้อกำหนดและระเบียบวิธีการจ่ายน้ำและการให้บริการต่าง ๆ รวมทั้งกำหนดค่าเช่า ค่าบริการอื่น ๆ ที่สมาชิกจะต้องชำระ
(5) พิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อเสนอที่ประชุมใหญ่ขออนุมัติงดเว้นค่าบำรุงที่ดิน
(6) พิจารณาดำเนินการเรื่องการจัดให้มีเครื่องมือ เครื่องจักรกล ปศุสัตว์เกี่ยวกับการผลิตหรือโรงงานอุตสาหกรรม
(7) พิจารณาเรื่องกิจกรรมกลุ่ม รวมกันผลิต รวมกันซื้อ รวมกันขาย สะสมเงินกองกลางของกลุ่ม และรวมกันแก้ปัญหาเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันของบรรดาสมาชิก
(8) พิจารณาในเรื่องการรับฝากเงิน การกู้ยืมเงิน การให้เงินกู้ และการฝากหรือลงทุนเงินของสหกรณ์
(9) กำหนดและดำเนินการเกี่ยวกับการประชุมใหญ่ การเสนองบดุลและรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่
(10) เสนอแนะการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีต่อที่ประชุมใหญ่
(11) เสนอแผนงานและงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ที่ประชุมใหญ่อนุมัติ
(12) พิจารณามอบอำนาจในการดำเนินงานให้แก่กรรมการดำเนินการ ผู้จัดการและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตามความเหมาะสม
(13) พิจารณากำหนดตัวเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ให้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้จัดการ
(14) พิจารณาดำเนินการแต่งตั้ง หรือจ้าง และกำหนดค่าตอบแทนของผู้จัดการตลอดจน ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้จัดการให้เป็นการถูกต้อง
(15) พิจารณาดำเนินการแต่งตั้ง และกำหนดค่าตอบแทนแก่ผู้ตรวจสอบภายใน
(16) กำหนดระเบียบต่าง ๆ ของสหกรณ์
(17) จัดให้มีและดูแลให้เรียบร้อยซึ่งบรรดาทะเบียน สมุดบัญชีเอกสารต่าง ๆ และบรรดาอุปกรณ์ดำเนินงานของสหกรณ์
(18) พิจารณาให้สหกรณ์สมัครเข้าเป็นสมาชิกและออกจากชุมนุมสหกรณ์ และองค์การอื่น
(19) พิจารณาดำเนินการแต่งตั้งและถอดถอนคณะกรรมการอื่น หรือคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์
(20) พิเคราะห์และปฏิบัติตามหนังสือของนายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ ผู้ตรวจการสหกรณ์ ผู้สอบบัญชี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย
(21) พิจารณาให้ความเที่ยงธรรมแก่บรรดาสมาชิก เจ้าหน้าที่สหกรณ์ ตลอดจนสอดส่องดูแลโดยทั่วไป เพื่อให้กิจการของสหกรณ์ดำเนินไปด้วยดี
(22) พิจารณารายงานของคณะกรรมการอื่น ผู้ตรวจสอบกิจการ ความเห็นของผู้จัดการและสมาชิกเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์
(23) เชิญสมาชิก หรือบุคคลภายนอกที่เห็นสมควรเป็นที่ปรึกษาของสหกรณ์ ตลอดจนกำหนดค่าตอบแทนให้ตามที่เห็นสมควร
(24) ฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ หรือประนีประนอมยอมความ หรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาชี้ขาด
(25) พิจารณาดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน ดังระบุไว้ในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
(26) พิจารณาแต่งตั้งกรรมการดำเนินการเป็นผู้แทนสหกรณ์ เพื่อเข้าประชุมใหญ่และออกเสียงในการประชุมใหญ่ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์ และองค์กรอื่นซึ่งสหกรณ์นี้เป็นสมาชิก ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่ข้อบังคับของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์ และองค์การนั้นกำหนดไว้
(27) ค้ำประกันเงินกู้ที่สหกรณ์กู้ยืมจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยรับผิดชอบการค้ำประกันในฐานะส่วนตัว
(28) พิจารณามอบหมายอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานให้แก่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ เลขานุการ เหรัญญิก ผู้จัดการและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ตามความเหมาะสม
ข้อ 74. ความรับผิดของคณะกรรมการดำเนินการ ในกรณีคณะกรรมการดำเนินการกระทำการ หรืองดเว้นการกระทำการหรือกระทำการโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของตนจนทำให้เสียผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก อันเป็นเหตุให้สหกรณ์มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี หรือกิจการ หรือ ฐานะการเงิน ตามรายงานการสอบบัญชี หรือรายงานการตรวจสอบ เป็นเหตุให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย คณะกรรมการดำเนินการต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์
คณะกรรมการอื่น
ข้อ 75. คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการดำเนินการอาจตั้งคณะกรรมการอำนวยการจากกรรมการดำเนินการ จำนวน 7 คน โดยให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ เหรัญญิก และเลขานุการของคณะกรรมการดำเนินการ เป็นกรรมการอำนวยการ และให้คณะกรรมการดำเนินการตั้งกรรมการดำเนินการอื่นเป็นกรรมการร่วมอีกตามสมควร
ให้ประธานกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการดำเนินการเป็นประธานและเลขานุการ คณะกรรมการอำนวยการตามลำดับ
คณะกรรมการอำนวยการให้อยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับกำหนดเวลาของคณะกรรมการดำเนินการซึ่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการนั้น
ให้คณะกรรมการอำนวยการประชุมกันตามคราวที่มีกิจธุระ แต่จะต้องมีการประชุมกันเดือนละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย และให้ประธานกรรมการอำนวยการหรือเลขานุการนัดเรียกประชุมได้
ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ต้องมีกรรมการอำนวยการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการอำนวยการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อวินิจฉัยทั้งปวงของคณะกรรมการอำนวยการ ให้เสนอคณะกรรมการดำเนินการในการประชุมคราวถัดไปทราบ
ข้อ 76. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอำนวยการ ให้คณะกรรมการอำนวยการเป็นผู้ดำเนินกิจการแทนคณะกรรมการดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย และตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1) ควบคุมในเรื่องการรับเงิน การจ่ายเงิน การสะสมเงิน การฝากหรือการเก็บรักษาเงินให้เป็นไปตามข้อบังคับ และระเบียบของสหกรณ์
(2) ควบคุมการจัดทำบัญชี และทะเบียนต่าง ๆ ของสหกรณ์ให้ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
(3) ควบคุมดูแล เก็บรักษาเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ตลอดจนทรัพย์สินของสหกรณ์ให้อยู่ในสภาพอันดีและปลอดภัย และพร้อมที่จะให้ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบได้ทันที
(4) เสนอแนะคณะกรรมการดำเนินการในการปรับปรุงหรือแก้ไขการบริหารงานของสหกรณ์
(5) ควบคุมดูแลการจัดทำงบดุลรวมทั้งบัญชีกำไรขาดทุนและรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์เสนอคณะกรรมการดำเนินการพิจารณา เพื่อเสนอต่อที่ประชุมใหญ่อนุมัติ
(6) พิจารณาการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ เสนอต่อคณะกรรมการดำเนินการพิจารณาเสนอให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาอนุมัติ
(7) พิจารณาแผนงานและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสหกรณ์ เสนอต่อคณะกรรมการดำเนินการพิจารณาและเสนอที่ประชุมใหญ่อนุมัติ
(8) ทำนิติกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของสหกรณ์ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมาย
ข้อ 77. คณะกรรมการเงินกู้ คณะกรรมการดำเนินการอาจตั้งคณะกรรมการเงินกู้ จากกรรมการดำเนินการ จำนวน 3 คน จากคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ โดยให้มีตำแหน่งประธานกรรมการคนหนึ่งและเลขานุการคนหนึ่ง นอกนั้นเป็นกรรมการ
คณะกรรมการเงินกู้ให้อยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับกำหนดเวลาของคณะกรรมการดำเนินการซึ่งตั้ง คณะกรรมการเงินกู้นั้น
ให้คณะกรรมการเงินกู้ประชุมกันตามคราวที่มีกิจธุระแต่จะต้องมีการประชุมกันเดือนละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย และให้ประธานกรรมการเงินกู้ หรือเลขานุการนัดเรียกประชุมได้
ในการประชุมคณะกรรมการเงินกู้ ต้องมีกรรมการเงินกู้เข้าประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการเงินกู้ทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อวินิจฉัยทั้งปวงของคณะกรรมการเงินกู้ ให้นำเสนอคณะกรรมการดำเนินการทราบในการประชุมคราวถัดไป
ข้อ 78. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเงินกู้ ให้คณะกรรมการเงินกู้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยอนุมัติการให้เงินกู้แก่สมาชิกตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ รวมทั้งข้อต่อไปนี้
(1) ตรวจสอบการใช้เงินกู้ของสมาชิกให้เป็นไปตามความมุ่งหมายที่ให้เงินกู้นั้น
(2) ตรวจสอบการควบคุมให้เงินกู้มีหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์ และเมื่อเห็นว่าหลักประกันสำหรับเงินกู้รายใดเกิดบกพร่องก็ต้องกำหนดให้ผู้กู้จัดการแก้ไขให้คืนดีภายในระยะเวลาที่กำหนด
(3) ดูแลและติดตามการชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญา
(4) สอบสวนเบื้องต้นให้ได้ข้อความจริง ในกรณีสมาชิกผู้กู้ขอผ่อนเวลาการส่งชำระหนี้เงินกู้ หรือผิดนัดการส่งชำระหนี้ เพื่อเสนอความเห็นให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาผ่อนผัน หรือเรียกคืนเงินกู้ หรือสอบสวนลงโทษให้สมาชิกออกจากสหกรณ์
ข้อ 79. คณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการดำเนินการอาจตั้งคณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ จากกรรมการดำเนินการ จำนวน 5 คน โดยให้มีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการคนหนึ่ง และเลขานุการคนหนึ่ง นอกนั้นเป็นกรรมการ
คณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ให้อยู่ในตำแหน่งได้เท่าที่กำหนดเวลาของคณะกรรมการดำเนินการซึ่งตั้งคณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์นั้น
ให้คณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ประชุมกันตามคราวที่มีกิจธุระ แต่ต้องมีการประชุมกันเดือนละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย และให้ประธานกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ หรือเลขานุการนัดเรียกประชุมได้
ในการประชุมคณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ให้คณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์รายงานผลการปฏิบัติงานให้คณะกรรมการดำเนินการทราบ ในการประชุมคราวถัดไป
ข้อ 80. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ ให้คณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1) ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่สมาชิก โดยให้การศึกษาและอบรมแก่สมาชิก และ ผู้ที่สนใจให้ทราบถึงเจตนารมณ์ หลักการ วิธีการและการบริหารงานของสหกรณ์
(2) ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข่าวสาร ความรู้เกี่ยวกับลักษณะ ประโยชน์ รวมทั้ง ผลงานของสหกรณ์ให้สมาชิกและบุคคลภายนอกรับทราบ
(3) ดำเนินการในการหาผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก
(4) ให้การศึกษาอบรมและเผยแพร่แก่สมาชิกถึงวิธีการออมทรัพย์ และการใช้จ่ายเงิน อย่างรอบคอบตลอดจนวิชาการต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ
(5) ศึกษาและติดตามข่าวความเคลื่อนไหวด้านการดำเนินงานของสหกรณ์อื่นทั้งในและนอกประเทศเพื่อนำตัวอย่างที่ดีมาเสนอคณะกรรมการดำเนินการพิจารณานำมาบริการแก่สมาชิกตามความ เหมาะสม
ข้อ 81. คณะอนุกรรมการ ในกรณีจำเป็นแก่การดำเนินงาน คณะกรรมการดำเนินการอาจมีคำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการต่าง ๆ เพื่อมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจของสหกรณ์โดยมีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
ประธานในที่ประชุม
ข้อ 82. ประธานในที่ประชุม ในการประชุมใหญ่ หรือการประชุมคณะกรรมการดำเนินการให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ก็ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม และถ้ารองประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมด้วยก็ให้ที่ประชุมเลือกตั้งกรรมการดำเนินการคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น
ในการประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ เช่น คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการเงินกู้ คณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ ให้ประธานของคณะกรรมการนั้น ๆ เป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมก็ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น
ในการประชุมกลุ่ม ให้ประธานกลุ่มหรือเลขานุการกลุ่ม (ถ้ามี) เป็นประธานในที่ประชุมตามลำดับ แต่ถ้าประธานกลุ่มหรือเลขานุการกลุ่มไม่อยู่ในที่ประชุมก็ให้ที่ประชุมเลือกสมาชิกซึ่งเข้าประชุมคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น
ในการประชุมใหญ่วิสามัญที่สมาชิกร้องขอให้เรียกประชุม ในกรณีที่ที่ประชุมใหญ่ได้มีมติถอดถอนกรรมการดำเนินการ ถ้ามีการร้องขอให้เปลี่ยนตัวประธานในที่ประชุมก็ให้กระทำได้โดยเลือกสมาชิกคนใด คนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะคราวนั้น หรือจนเสร็จการประชุม มติเลือกประธานในที่ประชุมในกรณีนี้ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกซึ่งมาประชุม
การออกเสียงและการวินิจฉัยปัญหาในที่ประชุม
ข้อ 83. การออกเสียง สมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนออกเสียงในที่ประชุมใหญ่ และที่ประชุมกลุ่มสุดแต่กรณีได้เพียงคนละหนึ่งเสียง จะมอบให้ผู้อื่นมาประชุมและออกเสียงแทนตนไม่ได้
ถ้าในปัญหาซึ่งที่ประชุมวินิจฉัยนั้น ผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษเฉพาะตัว ผู้นั้นจะออกเสียงในเรื่องนั้นไม่ได้
ข้อ 84. การวินิจฉัยปัญหา เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นพิเศษในข้อบังคับนี้ การวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ หรือที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ให้ถือเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกซึ่งมาประชุม
- การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ
- การเลิกสหกรณ์
- การควบสหกรณ์
- การแยกสหกรณ์
รายงานการประชุม
ข้อ 85. รายงานการประชุม ในการประชุมใหญ่ การประชุมกลุ่ม การประชุม คณะกรรมการดำเนินการ หรือการประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ นั้น ต้องจัดให้ผู้เข้าประชุมลงลายมือชื่อพร้อมทั้งบันทึกเรื่องที่พิจารณาวินิจฉัยทั้งสิ้นไว้ในรายงานการประชุม และให้ประธานในที่ประชุมกับกรรมการดำเนินการ หรือกรรมการอื่น ๆ แล้วแต่กรณี อีกคนหนึ่งที่เข้าประชุมนั้น ๆ ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
หมวด 9
ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์
ข้อ 86. การจ้างและแต่งตั้งผู้จัดการ คณะกรรมการดำเนินการอาจพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถและความเหมาะสมเพื่อแต่งตั้งหรือจ้างเป็นผู้จัดการของสหกรณ์ โดยต้องไม่เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตาม ข้อ 67 (1) (2) (3) (4) หรือเป็นที่ปรึกษาสหกรณ์หรือเป็น ผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ และในการจ้างผู้จัดการต้องทำหนังสือสัญญาจ้างไว้เป็นหลักฐาน และให้คณะกรรมการดำเนินการเรียกให้มีหลักประกันอันสมควร
ในการแต่งตั้ง หรือจ้างผู้จัดการ ต้องให้ผู้จัดการรับทราบและรับรองที่จะปฏิบัติหน้าที่ดังกำหนดไว้ใน ข้อ 88 เป็นลายลักษณ์อักษร
ให้คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจกำหนดระเบียบของสหกรณ์เกี่ยวกับการคัดเลือกหรือสอบคัดเลือก การแต่งตั้งหรือจ้าง การกำหนดอัตราเงินเดือน การให้สวัสดิการและการให้ออกจากตำแหน่งของผู้จัดการ
ข้อ 87. การดำรงตำแหน่งผู้จัดการ สหกรณ์อาจจ้างผู้จัดการโดยกำหนดระยะเวลาหรือไม่กำหนดระยะเวลาก็ได้
ข้อ 88. อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้จัดการ ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทั่วไปและรับผิดชอบเกี่ยวกับบรรดากิจการประจำของสหกรณ์ รวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1) ตรวจสอบการสมัครเข้าเป็นสมาชิกให้เป็นการถูกต้อง ตลอดจนเป็นธุระจัดให้ผู้เข้าเป็นสมาชิกลงลายมือชื่อในทะเบียนสมาชิกและชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้ากับค่าหุ้นตามข้อบังคับของสหกรณ์
(2) ควบคุมให้มีการเก็บเงินค่าหุ้น โอนหุ้น แจ้งยอดจำนวนหุ้น จ่ายคืนค่าหุ้นและชักชวนการถือหุ้นในสหกรณ์
(3) รับฝากเงิน จ่ายคืนเงินฝาก และส่งเสริมการรับฝากเงินของสหกรณ์
(4) เป็นธุระในการตรวจสอบคำขอกู้ จ่ายเงินกู้ จัดทำเอกสารเกี่ยวกับเงินกู้ให้เป็นไปตามแบบและระเบียบของสหกรณ์
(5) จัดทำรายละเอียดของสมาชิกรายตัวเกี่ยวกับเงินค่าหุ้น และเงินให้กู้ทุกหกเดือน พร้อมกับแจ้งให้สมาชิกทราบเป็นรายบุคคล
(6) พิจารณาจัดจ้างเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในระเบียบของสหกรณ์ รวมถึงกำหนดหน้าที่และวิธีปฏิบัติงานของบรรดาเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ตลอดจนเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เหล่านั้นให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย
(7) เป็นธุระกวดขันในเรื่องการออกใบรับ เรียกใบรับ หรือจัดให้มีใบสำคัญเกี่ยวกับการซื้อขาย และการทำธุรกิจต่าง ๆ ของสหกรณ์ รับผิดชอบในการรับจ่ายเงินของสหกรณ์ให้เป็นการถูกต้อง รวบรวมใบสำคัญและเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการเงินไว้โดยครบถ้วน และเก็บรักษาเงินของสหกรณ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์
(8) รับผิดชอบและดูแลในการจัดทำบัญชีและทะเบียนต่าง ๆ ของสหกรณ์ให้ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน
(9) ติดต่อประสานงานกับเลขานุการในการนัดเรียกประชุมใหญ่ ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ และประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ
(10) รับผิดชอบจัดทำงบดุลรวมทั้งบัญชีกำไรขาดทุน และรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์เสนอคณะกรรมการดำเนินการพิจารณา เพื่อเสนอต่อที่ประชุมใหญ่อนุมัติ
(11) จัดทำแผนงานและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสหกรณ์เสนอคณะกรรมการดำเนินการพิจารณา
(12) จัดทำแผนปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้สอดคล้องกับแผนงานที่ได้รับอนุมัติจากที่ ประชุมใหญ่
(13) เข้าร่วมประชุมและชี้แจงในการประชุมใหญ่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการและประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ เว้นแต่กรณีซึ่งที่ประชุมนั้น ๆ มิให้เข้าร่วมประชุม
(14) ปฏิบัติการเกี่ยวกับงานสารบรรณของสหกรณ์
(15) รักษาดวงตราของสหกรณ์ และรับผิดชอบตรวจตราดูแลทรัพย์สินต่าง ๆ ของสหกรณ์ตลอดจนผลิตผล ผลิตภัณฑ์ และสินค้าอื่น ๆ ของสหกรณ์ ให้อยู่ในสภาพอันดีและปลอดภัย
(16) เสนอรายงานกิจการประจำเดือนของสหกรณ์ต่อคณะกรรมการดำเนินการ
(17) รักษาเงินสดของสหกรณ์ภายในจำนวนที่คณะกรรมการดำเนินการอนุญาตให้สำรองไว้ใช้จ่ายในกิจการของสหกรณ์ และจัดการส่งเงินของสหกรณ์ นอกจากจำนวนดังกล่าวนั้นเข้าฝากตามที่ คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
(18) สำรวจผลิตผล และสินค้าอื่น ๆ ในตลาดต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักในการพิจารณาดำเนินกิจการของสหกรณ์กับแจ้งให้คณะกรรมการดำเนินการและสมาชิกทราบความเคลื่อนไหวของราคาผลิตผลและ สินค้านั้น ๆ ด้วย
(19) ดูแลที่ดิน สำนักงาน อาคาร อุปกรณ์ และทรัพย์สินอื่น ๆ ของสหกรณ์
(20) รับผิดชอบตรวจสอบการรับจ่ายเงินทั้งปวงของสหกรณ์ให้เป็นการถูกต้องตลอดจน รวบรวมใบสำคัญ และเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการเงินของสหกรณ์ไว้โดยครบถ้วน
(21) เป็นธุระในการส่งเสริมเผยแพร่วิชาการเกษตร การผลิตทางอุตสาหกรรม หรือการประกอบอาชีพในหมู่สมาชิก การจัดทำงบสินทรัพย์และหนี้สิน งบรายได้และค่าใช้จ่ายกับทะเบียนเกษตรกรรมอื่น ๆ สำหรับสมาชิก การศึกษาอบรมทางสหกรณ์และทางอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในหมู่สมาชิกตลอดจนการชักจูงการฝากเงินในสหกรณ์
(22) เสนอรายการหรือรายงานของสหกรณ์ต่อทางราชการ ตามแบบและระยะเวลาที่ทางราชการกำหนด
(23) ค้ำประกันเงินกู้ที่สหกรณ์กู้ยืมจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยรับผิดชอบการค้ำประกันในฐานะส่วนตัว
(24) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการ หรือคณะกรรมการอื่น ๆ ของ สหกรณ์มอบหมาย หรือตามที่ควรกระทำ เพื่อให้กิจการในหน้าที่ลุล่วงไปด้วยดี
ข้อ 89. การพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการ ผู้จัดการของสหกรณ์ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1) ตาย
(2) ลาออกโดยแสดงความจำนงทำเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการดำเนินการ
(3) ขาดคุณสมบัติตามระเบียบของสหกรณ์หรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายสหกรณ์กำหนด
(4) อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือครบกำหนดตามสัญญาจ้าง
(5) ถูกเลิกจ้าง
(6) ถูกลงโทษให้ออกหรือไล่ออก หรือมีพฤติกรรมอันแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ว่าได้กระทำการ หรือละเว้นการกระทำการใด ๆ อันอาจทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีแก่ประชาชนหรือไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ผู้จัดการสหกรณ์
ข้อ 90. การลาออกของผู้จัดการ ให้ผู้จัดการยื่นหนังสือถึงสหกรณ์ก่อนวันที่จะออกไม่น้อยกว่าสามสิบวันและให้เลขานุการคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์พิจารณาการลาออกนั้น การยับยั้งการลาออกของผู้จัดการสหกรณ์กระทำได้ไม่เกินหกสิบวัน
ข้อ 91. การแต่งตั้งผู้รักษาการแทนผู้จัดการ ถ้าตำแหน่งผู้จัดการว่างลงและยังไม่ได้แต่งตั้งให้ผู้ใดดำรงตำแหน่งแทนหรือเมื่อผู้จัดการไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นครั้งคราว ให้รองผู้จัดการหรือผู้ช่วยผู้จัดการ หรือเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายเป็นผู้รักษาการแทน
ข้อ 92. การเปลี่ยนผู้จัดการ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนผู้จัดการ ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการ ต้องจัดให้มีการตรวจสอบหลักฐานทางบัญชีและการเงิน ผลิตผลและสินค้าอื่น ๆ กับบรรดาทรัพย์สินและหนี้สิน ตลอดจนจัดทำงบดุลของสหกรณ์เพื่อทราบฐานะอันแท้จริงก่อนที่จะส่งมอบงาน
ข้อ 93. เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ จากตำแหน่งผู้จัดการแล้วสหกรณ์อาจจัดจ้างและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่อื่น ตามความจำเป็นเพื่อปฏิบัติงานในสหกรณ์ โดยต้องไม่เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 67 (1) (2) (3) (4) หรือเป็นที่ปรึกษาสหกรณ์หรือผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ ทั้งนี้ตามระเบียบของสหกรณ์ซึ่งคณะกรรมการ ดำเนินการกำหนด
หมวด 10
ที่ปรึกษา และผู้ตรวจสอบกิจการ
ข้อ 94. ที่ปรึกษาและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมการดำเนินการอาจเชิญสมาชิกหรือบุคคลภายนอกซึ่งทรงคุณวุฒิมีความรู้ความสามารถและเหมาะสมเป็นที่ปรึกษาและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ได้ เพื่อให้ความเห็นแนะนำในการดำเนินงานทั่วไปของสหกรณ์ จำนวนไม่เกินห้าคน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่สหกรณ์กำหนด
ผู้ตรวจสอบกิจการ
ข้อ 95. ผู้ตรวจสอบกิจการ ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งสมาชิกหรือบุคคลภายนอก ผู้มีคุณวุฒิ ความรู้ ความสามารถในด้านธุรกิจ การเงิน การบัญชี การบริหารจัดการ เศรษฐศาสตร์ การสหกรณ์ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ และมีคุณสมบัติเป็นผู้ผ่านการอบรมการตรวจสอบกิจการจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ หรือหน่วยงานอื่นที่ได้รับการรับรองหลักสูตรจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และไม่มีลักษณะต้องห้ามของผู้ตรวจสอบกิจการ ตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ เป็นผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ จำนวน.....2......* คน
ข้อ 96. ขั้นตอนและวิธีการเลือกตั้งผู้ตรวจสอบกิจการ ให้คณะกรรมการดำเนินการประกาศรับสมัครผู้ตรวจสอบกิจการ และพิจารณาคัดเลือกผู้ตรวจสอบกิจการที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์กำหนด และนำเสนอชื่อผู้ตรวจสอบกิจการที่ผ่านมาคัดเลือกให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งโดยวิธีลงคะแนนลับหรือเปิดเผย และให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งคะแนนสูงสุดเป็นผู้ตรวจสอบกิจการ หากมีคะแนนเท่ากันให้ประธานออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียง และให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งลำดับคะแนนรองลงมาเป็นผู้ตรวจสอบกิจการสำรองจำนวน..2..คน
กรณีผู้ตรวจสอบกิจการได้พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุตามข้อ 98 (2) (3) (4) (5) ให้ผู้ตรวจสอบกิจการสำรองปฏิบัติงานได้ทันทีเท่าระยะเวลาที่ผู้ตรวจสอบกิจการคนเดิมคงเหลืออยู่ หรือจนกว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ตรวจสอบกิจการใหม่
ข้อ 97. การดำรงตำแหน่งผู้ตรวจสอบกิจการ ผู้ตรวจสอบกิจการอยู่ในตำแหน่งได้มีกำหนดเวลา...3....ปีทางบัญชีสหกรณ์ (ไม่เกิน 3 ปี) ถ้าเมื่อครบกำหนดเวลาแล้วยังไม่มีการเลือกตั้งผู้ตรวจสอบกิจการคนใหม่ ก็ให้ผู้ตรวจสอบกิจการคนเดิมปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน
ผู้ตรวจสอบกิจการซึ่งออกไปนั้น อาจได้รับเลือกตั้งซ้ำได้
ข้อ 98. การพ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจสอบกิจการ ผู้ตรวจสอบกิจการต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) ถึงคราวออกตามวาระ
(2) ตาย
(3) ลาออก โดยแสดงเหตุผลเป็นหนังสือยื่นต่อประธานคณะผู้ตรวจสอบกิจการหรือยื่นต่อคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์แล้วแต่กรณี
(4) ที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ลงมติถอดถอนผู้ตรวจสอบกิจการซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ออกจากตำแหน่งทั้งคณะหรือรายบุคคล
(5) นายทะเบียนสหกรณ์วินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
ข้อ 99. อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจสอบกิจการ ผู้ตรวจสอบกิจการมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบ การดำเนินงาน ทั้งปวงของสหกรณ์ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้ คือ
(1) ตรวจสอบเอกสาร สรรพสมุด บัญชี ทะเบียนและการเงิน ตลอดจนทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้งปวงของสหกรณ์ เพื่อทราบฐานะและข้อเท็จจริงของสหกรณ์ที่เป็นอยู่จริง
(2) ตรวจสอบหลักฐานและความถูกต้องของการดำเนินธุรกิจแต่ละประเภทของสหกรณ์ เพื่อประเมินผลและอาจให้ข้อแนะนำแก่คณะกรรมการดำเนินการ ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ ทั้งทางวิชาการ และทางปฏิบัติในกิจการนั้น ๆ
(3) ตรวจสอบการจัดจ้างและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ ตลอดจนหนังสือสัญญาจ้างและหลักประกัน
(4) ตรวจสอบการปฏิบัติงานตามแผนงาน และการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสหกรณ์
(5) ติดตามผลการดำเนินงานของคณะกรรมการดำเนินการ เพื่อพิจารณาหาทางปรับปรุง แผนงาน ข้อบังคับ ระเบียบ มติ ตลอดจนคำสั่งต่างๆ ของสหกรณ์
(6) ตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ หรือกิจการอื่น ๆ เพื่อให้เกิดผลดีแก่การดำเนินกิจการของสหกรณ์
การตรวจสอบกิจการและการดำเนินงานของสหกรณ์ ผู้ตรวจสอบกิจการต้องปฏิบัติงานตามแนวปฏิบัติการตรวจสอบกิจการที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนด
ข้อ 100. การรายงานผลการตรวจสอบ ให้ผู้ตรวจสอบกิจการรายงานผลการตรวจสอบประจำเดือนและประจำปีรวมทั้งข้อสังเกตข้อเสนอแนะเป็นลายลักษณ์อักษร และเข้าร่วมประชุมเพื่อแจ้งผลการตรวจสอบประจำเดือนต่อคณะกรรมการดำเนินการในการประชุมประจำเดือนคราวถัดไป และรายงานผลการตรวจสอบประจำปีต่อที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ด้วย
กรณีที่ผู้ตรวจสอบกิจการพบว่ามีเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกของสหกรณ์อย่างร้ายแรง หรือสหกรณ์มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ประกาศหรือคำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งข้อบังคับ ระเบียบ มติที่ประชุมหรือคำสั่งของสหกรณ์จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกและสหกรณ์อย่างร้ายแรง ให้แจ้งผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการดำเนินการทันทีเพื่อดำเนินการแก้ไข และให้จัดส่งสำเนารายงานดังกล่าว ต่อสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดที่กำกับดูแลโดยเร็ว
ให้ผู้ตรวจสอบกิจการติดตามผลการแก้ไขตามรายงานการตรวจสอบ และสำเนารายงานผลการแก้ไขและผลการติดตามของผู้ตรวจสอบกิจการต่อสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดที่กำกับดูแล
ข้อ 101. ความรับผิดของผู้ตรวจสอบกิจการ กรณีผู้ตรวจสอบกิจการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติผิดจริยธรรมในการปฏิบัติงานจนเป็นเหตุให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย ผู้ตรวจสอบกิจการต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์ หรือหากตรวจพบข้อบกพร่องของสหกรณ์ ต้องแจ้งให้คณะกรรมการดำเนินการทราบโดยเร็ว ผู้ตรวจสอบกิจการต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายอันจะเกิดแก่สหกรณ์ด้วยเหตุไม่แจ้งนั้น
การพิจารณาความรับผิดของผู้ตรวจสอบกิจการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมใหญ่
หมวด 11
การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ
ข้อ 102. การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ จะกระทำได้ก็แต่โดยหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
(1) ต้องกำหนดในระเบียบวาระการประชุมใหญ่เป็นเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ และให้แจ้งไปยังสมาชิกพร้อมหนังสือแจ้งระเบียบวาระการประชุมใหญ่
(2) คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะเสนอวาระแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับได้ เมื่อมีการพิจารณาเรื่องที่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมนั้นในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ซึ่งมีกรรมการดำเนินการมาประชุมเต็มจำนวนของคณะกรรมการดำเนินการที่มีอยู่ในขณะนั้น โดยมติให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับนั้นให้ถือเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการดำเนินการที่มาประชุมซึ่งลงลายมือชื่อเข้าประชุม แต่ถ้าสมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าห้าสิบคนลงลายมือชื่อทำหนังสือร้องขอต่อ คณะกรรมการดำเนินการ ก่อนการประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่าสามสิบวันให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับก็ย่อมทำได้ โดยต้องระบุข้อความที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมนั้นพร้อมด้วยเหตุผล
(3) การพิจารณาวาระการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ ให้กระทำได้แต่เฉพาะในการประชุมใหญ่ ที่มีองค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก หรือของผู้แทนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน แล้วแต่กรณี
(4) ข้อความใดที่ที่ประชุมใหญ่ได้ลงมติแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว หากปรากฏภายหลังว่าข้อความนั้นขัดหรือแย้งกับกฎหมายหรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์หรือเจตนารมย์แห่งกฎหมาย นายทะเบียนสหกรณ์อาจแก้ไขข้อความนั้น แล้วรับจดทะเบียนสหกรณ์
(5) ข้อบังคับที่นายทะเบียนสหกรณ์รับจดทะเบียนสหกรณ์แล้ว หากยังไม่ได้กำหนดระเบียบ หรือคำสั่งให้สอดคล้องกัน ก็ให้นำความที่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับแล้วนั้นมาบังคับใช้ และให้ผู้เกี่ยวข้องถือปฏิบัติ
หมวด 12
ข้อเบ็ดเสร็จ
ข้อ 103. ระเบียบของสหกรณ์ ให้คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจกำหนดระเบียบต่าง ๆ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งข้อบังคับนี้ และเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานของสหกรณ์รวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1) ระเบียบว่าด้วยการรับเงินฝากจากสมาชิกสหกรณ์
(2) ระเบียบว่าด้วยการรับเงินฝากจากสหกรณ์อื่น
(3) ระเบียบว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิกสหกรณ์
(4) ระเบียบว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สหกรณ์อื่น
(5) ระเบียบว่าด้วยกลุ่มสมาชิก
(6) ระเบียบว่าด้วยการรับจ่ายและเก็บรักษาเงิน
(7) ระเบียบว่าด้วยเจ้าหน้าที่และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
(8) ระเบียบว่าด้วยการใช้ทุนสาธารณประโยชน์
(9) ระเบียบว่าด้วยที่ปรึกษาและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์
(10) ระเบียบอื่น ๆ ที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรกำหนดไว้ให้มี เพื่อสะดวกและเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของสหกรณ์
เฉพาะระเบียบใน (1) (2) (4) ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ก่อนจึงจะใช้บังคับได้ ส่วนระเบียบอื่นเมื่อคณะกรรมการดำเนินการกำหนดใช้แล้วให้ส่งสำเนาให้ นายทะเบียนสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทราบ
ข้อ 104. การดำเนินคดีเกี่ยวกับความเสียหาย ในกรณีที่ทรัพย์สินของสหกรณ์ถูกยักยอกหรือเสียหายโดยประการใด ๆ หรือในกรณีที่สหกรณ์เรียกคืนเงินกู้ตามข้อ 13 และข้อ 103 (3) (4) แต่มิได้รับชำระตามเรียก คณะกรรมการดำเนินการต้องร้องทุกข์ หรือฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ
ข้อ 105. การตีความในข้อบังคับ ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับการตีความในข้อบังคับข้อใด ให้สหกรณ์เสนอปัญหานั้นต่อนายทะเบียนสหกรณ์เพื่อขอคำวินิจฉัย และให้สหกรณ์ถือปฏิบัติตามคำวินิจฉัยนั้น
ข้อ 106. ทรัพย์สินของสหกรณ์ การจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ของสหกรณ์ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดำเนินการเป็นเอกฉันท์ และต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ด้วย
การลงมติเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ตามความในวรรคแรก ให้ถือเสียงข้างมากของสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกซึ่งมาประชุม
ข้อ 107. การจำหน่ายทรัพย์สินเมื่อสหกรณ์ต้องเลิก เมื่อสหกรณ์ต้องเลิกและได้จัดการชำระบัญชี โดยจำหน่ายทรัพย์สินตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ตลอดทั้งจ่ายคืนเงินรับฝากพร้อมด้วยดอกเบี้ยและชำระหนี้สินอื่น ๆ ของสหกรณ์เสร็จสิ้นแล้ว ปรากฏว่าสหกรณ์มีทรัพย์สินเหลืออยู่เท่าใดให้ผู้ชำระบัญชีจ่ายตามลำดับดังต่อไปนี้
(1) จ่ายคืนค่าหุ้นให้แก่สมาชิกไม่เกินมูลค่าหุ้นที่ชำระแล้ว
(2) จ่ายเป็นเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้ว แต่ต้องไม่เกินอัตราที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
(3) จ่ายเป็นเงินเฉลี่ยคืน ตามข้อ 26 (2)
เงินที่จ่ายตามข้อ 107 (2) และ (3) เมื่อรวมทั้งสิ้นต้องไม่เกินยอดรวมแห่งจำนวนเงินกำไรสุทธิที่สหกรณ์หาได้ในระหว่างปีที่เลิกสหกรณ์กับทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผลที่ถอนไปตาม ข้อ 26 (4) ในปีนั้น
ถ้ายังมีทรัพย์สินเหลืออยู่อีก ให้โอนให้แก่สหกรณ์อื่น หรือสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยตามมติของที่ประชุมใหญ่ หรือด้วยความเห็นชอบของนายทะเบียนสหกรณ์ ในกรณีที่ไม่อาจเรียกประชุมใหญ่ได้ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ชำระบัญชีเสร็จ
ข้อ 108. ในกรณีที่ข้อบังคับนี้มิได้กำหนดข้อความเรื่องใดไว้ ให้สหกรณ์รับบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ตลอดจนคำสั่งหรือคำแนะนำและระเบียบปฏิบัติของนายทะเบียนสหกรณ์มาใช้เป็นส่วนหนึ่งแห่งข้อบังคับนี้ด้วย
บทเฉพาะกาล
ข้อ 109. นับแต่วันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ ระเบียบใดซึ่งสหกรณ์ถือใช้อยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ถือใช้ และไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ให้ถือใช้ตามระเบียบนั้นไปก่อน จนกว่าจะได้กำหนดระเบียบขึ้นถือใช้ใหม่
ข้อ 110. จำนวนผู้ตรวจสอบกิจการและระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของผู้ตรวจสอบกิจการให้มีผลในการประชุมใหญ่สามัญครั้งถัดไป
ลงชื่อ………………………………………………………………ประธานกรรมการ
(นายสวาท ใจดี)
ลงชื่อ………………………………………………………………เลขานุการ
(นางสุภาพ ใจดี)
เหตุผล ที่ต้องยกเลิกข้อบังคับเดิมและใช้ข้อบังคับฉบับนี้แทน
เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2558 (แก้ไขเพิ่มเติม) กฎกระทรวง ให้ไว้ ณ วันที่ 25 มกราคม 2560 และระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการตรวจสอบกิจการสหกรณ์ พ.ศ.2559
คำรับรองของประธานกรรมการ และเลขานุการ
ขอรับรองว่า ข้อบังคับทั้งห้าฉบับ มีข้อความถูกต้องตรงกัน
ลงชื่อ………………………………………………………………ประธานกรรมการ
(นายสวาท ใจดี)
ลงชื่อ………………………………………………………………เลขานุการ
(นางสุภาพ ใจดี)